นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ หัวหน้าที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) (Mr.Nattakrit Laotaweesap, Head Of Wealth Advisory of TISCO Bank Public Company Limited) เปิดเผยว่า สำหรับผู้ที่อยู่ในระหว่างวางแผนจัดการภาษีในปี 2562 ทิสโก้เวลธ์แนะนำให้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีผ่านกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และประกันสุขภาพ เพราะนอกจากจะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีซึ่งถือเป็นผลตอบแทนที่เกิดขึ้นทันทีแล้ว การลงทุนใน LTF และ RMF ยังช่วยสร้างความมั่งคั่งผ่านการลงทุนในหุ้น และสินทรัพย์อื่นๆ โดยมีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพช่วยบริหารจัดการ ขณะที่ประกันสุขภาพก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งจะช่วยปกป้องความมั่งคั่ง และช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเจ็บป่วยอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายที่การลงทุนใน LTF จะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี หรือสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งนักลงทุนเริ่มกังวลว่ามูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วย (NAV) อาจลดลงจากการขายหน่วยลงทุนของผู้ลงทุนที่ครบกำหนดตามเงื่อนไข ซึ่งในความเป็นจริงแล้วราคา NAV นั้นจะไม่ได้รับผลกระทบจากการขายหน่วยลงทุนของผู้ลงทุนที่ครบกำหนดเงื่อนไข เพราะยังคงบริหารจัดการโดยผู้จัดการมืออาชีพอยู่
"สาเหตุที่ราคา NAV ของ LTF อาจจะไม่ได้รับผลกระทบหากนักลงทุนขายหน่วยลงทุนออกมา เพราะราคา NAV คำนวณมาจากมูลค่าสินทรัพย์ตามราคาตลาด บวกกับรายได้ค้างรับ เงินสด ลบออกด้วยหนี้สิน และนำมาหารด้วยจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมด ดังนั้น การขึ้นหรือลงของราคา NAV จะขึ้นอยู่กับการปรับตัวของราคาสินทรัพย์ที่ LTF นำเงินไปลงทุนเป็นหลัก ซึ่งหากทีมผู้จัดการกองทุนที่บริหารกองทุนได้ดีอยู่แล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหาในการสร้างผลการดำเนินงานให้ดีต่อไป ส่วน RMF ยังคงสิทธิ์เหมือนเดิมคือลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) และประกันชีวิตแบบบำนาญ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท ส่วนนี้ก็อาจะต้องพิจารณาว่า เมื่อรวมกับ LTF แล้ว พอร์ตรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ท่านรับความเสี่ยงได้หรือไม่ เช่น ถ้าท่านใกล้เกษียณก็อาจจะเลือกลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำลง" นายณัฐกฤติกล่าว
สำหรับเครื่องมือที่ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีที่ควรให้ความสำคัญมากขึ้น คือการซื้อประกันสุขภาพเพราะนอกจากจะสามารถนำมาใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาทแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการปกป้องความมั่งคั่ง และช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี บวกกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงประเภทต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรทั่วโลก โดยในปี 2551 มีประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคมะเร็งประมาณ 7.6 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็นถึง 13 ล้านคนในปี พ.ศ. 2573 สำหรับประเทศไทย พบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งรายใหม่วันละ 336 คน หรือ 122,757 คนต่อปี เสียชีวิตวันละ 215 คน หรือ 78,540 คนต่อปี เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 ราย
"ค่ารักษาโรคมะเร็งนั้นสูงตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้านบาทต่อคนถือเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก ซึ่งปัจจุบันบริษัทประกันแต่ละแห่งมีผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้า แต่สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำก็คือ ควรเลือกซื้อประกันสุขภาพที่มีการ "การันตีต่ออายุ" ที่ช่วยลดความเสี่ยงในภาพระยะยาว เพราะถ้าเราเลือกซื้อประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองสูง แต่ประกันนั้นไม่มีการการันตีการต่ออายุ เมื่อเจ็บป่วยหรือเป็นโรคร้ายแรงซึ่งมักจะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ เกิดขึ้น และยังต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ประกันสุขภาพตัวนั้นอาจจะคุ้มครองเราแค่เพียงในครั้งแรก แต่ไม่มีใครรับประกันได้ว่าบริษัทประกันจะต่ออายุกรมธรรม์ให้กับเราในปีถัดไป การที่จะไปทำประกันสุขภาพใหม่ก็มีโอกาสสูงที่จะไม่ได้รับอนุมัติเนื่องจากเรามีประวัติสุขภาพที่ไม่ดี และจะส่งผลเสียต่อฐานะการเงินของเราหากเราเจ็บป่วยหรือเป็นโรคร้ายแรงอีกในอนาคต" นายณัฐกฤติกล่าว