โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต คือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เกิดอาการชาที่ใบหน้า ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขน ขา ข้างใดข้างหนึ่ง อ่อนแอ เคลื่อนไหวไม่ได้หรือเคลื่อนไหวลำบากอย่างทันทีทันใด เป็นนาทีหรือเป็นชั่วโมง แบ่งเป็น 2 ประเภทตามลักษณะการเกิดคือโรคหลอดเลือดสมองตีบตันและโรคหลอดเลือดสมองแตก
องค์การอัมพาตโลก (World Stroke Organization: WSO) ได้กำหนดให้ วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันอัมพาตโลก (World Stroke Day) โดยได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ในปี 2562 คือ Don' t Be the One สำหรับประเทศไทยนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดคำขวัญในการณรงค์วันอัมพาตโลกปี 2562 "อย่าให้ อัมพฤกษ์ อัมพาต…เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคุณ" เพื่อเน้นสร้างการรับรู้ข้อมูล สร้างกระแส เพื่อให้เกิดความตระหนักในการป้องกันและการจัดการปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในระดับบุคคล
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึงสถานการณ์โรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทยว่า จากรายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย ปี 2557 พบว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ทั้งในเพศชายและเพศหญิง จำนวน 30,403 คน และ 31,045 คน ตามลำดับ ทั้งนี้ โรคหลอดเลือด สามารถเกิดได้กับประชาชนทุกกลุ่มวัย ปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดโรคได้แก่ ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะโรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บริโภคอาหารไม่เหมาะสม ดัชนีมวลกายและรอบเอวเกิน ขาดการออกกำลังกาย รวมถึงปัญหาการเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ อย่างไรก็ตาม หากสามารถลดพฤติกรรมหรือภาวะเสี่ยงเหล่านี้ได้ ก็จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต น้อยลง
อีกหนึ่งวิธีในการสังเกตตัวเองและคนใกล้ชิดว่ามีอาการของโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ โดยให้สังเกตอาการหรือสัญญาณเตือน ' F.A.S.T ' ดังนี้ F (Face) ใบหน้าอ่อนแรง เวลายิ้มมุมปากข้างหนึ่งจะตก, A (Arm) แขนหรือขาอ่อนแรง ยกไม่ขึ้นหนึ่งข้าง, S (Speech) พูดลำบาก ไม่ชัด มีปัญหาในการพูด และ T (Time) หากมีอาการข้างต้นให้รีบไปโรงพยาบาลทันที ภายใน 4.30 ชั่วโมง (รวมถึงได้รับการรักษา) เพื่อจะได้รับการรักษาและสามารถฟื้นฟูให้กลับมาได้เป็นปกติมากที่สุด หรือโทร สายด่วน 1669 ให้บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
โรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาต สามารถป้องกันได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองเพื่อดูแลสุขภาพร่างกาย ด้วยการตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม เลิกสูบบุหรี่ ลดการรับประทานอาหารรสเค็ม เลี่ยงอาหารไขมันสูง รับประทานผักและผลไม้ทุกวัน ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ และสิ่งสำคัญ ประชาชนทุกคนต้องเรียนรู้สัญญาณเตือนของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและปฏิบัติตามแนวทางเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง ถ้ามีปัญหาโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน หรือพบผู้ที่มีอาการตามสัญญาณเตือนข้างต้นให้รีบปรึกษาแพทย์และรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองที่จะเกิดได้ในภายหลัง ซึ่งจะช่วยลดอัตราตาย และลดความพิการลงได้ นายแพทย์เฉลิมพลกล่าว
หากมีข้อสงสัยโรคหลอดเลือดสมอง สามารถโทรศัพท์สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422