นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ ได้ร่วมกับ บริษัท บุญถาวรเซรามิค จำกัด ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง อาทิ กระเบื้อง สุขภัณฑ์ ที่เกี่ยวกับห้องน้ำและห้องครัว ได้ร่วมจัดแข่งขันการปูกระเบื้อง ประจำปี พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นเวทีแสดงทักษะฝีมือ ความสามารถของกำลังแรงงาน และส่งเสริมมาตรฐานฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมถึงสร้างความรับรู้เกี่ยวกับมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้แก่แรงงาน ซึ่งที่ผ่านมา บริษัท บุญถาวรเซรามิค จำกัด เป็นองค์กรภาคเอกชนที่ร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการสนับสนุนงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ รวมถึงบุคลากรในการพัฒนาทักษะให้กับแรงงานและช่างปูกระเบื้องมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังให้การสนับสนุนการเก็บตัวฝึกซ้อมเยาวชนเข้าร่วมในการแข่งขันฝีมือแรงงานทั้งระดับอาเซียน และระดับนานาชาติอีกด้วย
นายสุรัตน์ ปาละนันทน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า กพร.และ บ.บุญถาวร ได้ร่วมกันจัดการแข่งขัน "ค้นหาสุดยอดช่างปูกระเบื้อง ครั้งที่ 1" เมื่อปี พ.ศ. 2553 และในปีนี้ (2562) การแข่งขันจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ณ บริษัท บุญถาวรเซรามิค จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดนำร่อง และจะขยายผลไปในภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ จังหวัดนครราชสีมา อุดรธานี และภูเก็ต เป็นต้น ด้านนายวิวัฒน์ ทยานุวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทในเครือบุญถาวร กล่าวเพิ่มเติมว่า กำหนดระยะเวลาการแข่งขัน ภายใน 1 วัน จำนวน 20 ทีม ทีมละไม่เกิน 2 คน เป็นบุคคลทั่วไปที่มีความรู้ความสามารถด้านช่างหรือการปูกระเบื้อง โดยแบ่งเป็น 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท รองอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท และรองอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 3,000 บาท นอกจากนี้ทุกทีมจะได้รับเครื่องมือบางส่วนสำหรับนำไปใช้ในการประกอบอาชีพด้วย
สำหรับเกณฑ์การประเมินนั้น ใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างปูกระเบื้อง เป็นหลักในการพิจารณา ทั้งความปลอดภัย การใช้วัสดุ การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ ขั้นตอนวิธีการทำงาน สามารถทำผลงานเสร็จภายในเวลา และสุดท้ายคือต้องมีชิ้นงานที่ถูกต้องตามแบบทำกำหนด ทั้งนี้ ก่อนทำการแข่งขัน ยังจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการใช้เครื่องมือที่เกี่ยวกับช่างปูกระเบื้อง เพื่อให้ผู้เข้าแข่งขัน นำความรู้ไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพ ช่วยให้สามารถทำงานเสร็จได้อย่างรวมเร็วขึ้น โดยนำเครื่องมือสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการทุ่นแรง รวมถึงเทคนิคในการการแก้ไขปัญหาคุณภาพของงานไม่เป็นไปตามที่ลูกค้าต้องการ เช่น ปัญหาการตัดกระเบื้อง ตัดแล้วชิ้นงานเสียหาย การวางแนวกระเบื้อง มีระยะห่างไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น
"กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่จะสนับสนุนภารกิจของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ด้านการพัฒนายกระดับทักษะฝีมือและมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อปรับเปลี่ยนให้กำลังแรงงานในสาขาอาชีพช่างปูกระเบื้องเป็นแรงงานคุณภาพและสามารถใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในปัจจุบันได้ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ตามแนวคิด Workforce Transformation ของหม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นการสร้างโอกาสในการทำงานที่มีรายได้สูง สร้างความมั่นคงทางอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมการก่อสร้างของประเทศต่อไป" อธิบดี กพร. กล่าว