สิงห์สร้างสรรค์คนทีวี เปิดเวทีอบรมเข้ม VLOG THAILAND เที่ยวไทยไปให้สุด

อังคาร ๒๙ ตุลาคม ๒๐๑๙ ๐๙:๓๑
"โครงการสิงห์สร้างสรรค์คนทีวี ปี 14" เปิดเวทีอบรมเชิงปฏิบัติการพร้อมต้อนรับ 24 ทีมทั่วประเทศ ที่ฝ่าด่านเข้าสู่รอบที่สองของการประกวดโจทย์ VLOG THAILAND : เที่ยวไทยไปให้สุด หลังจากมีผู้ส่งผลงานในรอบที่หนึ่งมากถึง 350 ทีม และเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมปลายและ ปวช. ได้ประลองฝีมือเวทีเดียวกันกับรุ่นพี่ชั้น ปวส. และมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี เพื่อให้คนรุ่นใหม่ไม่จำกัดชั้นปี ได้มีพื้นที่บ่มเพาะประสบการณ์ทำงานและลงมือปฏิบัติจริงอย่างมืออาชีพ โดยมีวิทยากรร่วมถ่ายทอดสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ อย่างใกล้ชิด นำทีมโดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล จากรายการ (เถื่อน)ทราเวล รวมถึงพี่ ๆ โปรดิวเซอร์จากรายการเรื่องจริงผ่านจอ เพื่อให้ทั้ง 24 ทีม นำความรู้ไปพัฒนาต่อยอดสู่การผลิตผลงานเรื่องใหม่ในรอบชิงชนะเลิศ

ทั้งนี้ โครงการสิงห์สร้างสรรค์คนทีวี โดย บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท สาระดี จำกัด ได้ร่วมกันจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยล่าสุดได้กำหนดการประกวด VLOG คือการบันทึกเรื่องราวในรูปแบบวีดีโอ ความยาว 3 นาที หัวข้อ VLOG THAILAND : เที่ยวไทยไปให้สุด ชิงรางวัลทุนการศึกษารวมกว่า 300,000 บาท ทั้งยังเปิดให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมปลาย ปวช. ปวส.จนถึงมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ได้ร่วมประกวด ปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามมี 350 ทีม จากกว่า 70 สถาบันทั่วประเทศที่ส่งผลงานเข้าประกวดในรอบที่หนึ่งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ โรงภาพยนตร์กันตนา มูฟวี่มอลล์ "โครงการสิงห์สร้างสรรค์คนทีวี ปี 14" ได้คัดเลือกผลงานที่ผ่านเข้ารอบที่สองเหลือเพียง 24 ทีมเพื่อรับการอบรมเชิงปฏิบัติการจากวิทยากรผู้มีประสบการณ์ด้านผลิตสื่อ พร้อมรับทุนสนับสนุนการท่องเที่ยวอีกทีมละ 5,000 บาท ลงพื้นที่ในจังหวัดเมืองรองตามจังหวัดที่แต่ละทีมจับสลากได้ และผลิตผลงานเรื่องใหม่ เพื่อคัดเพียง 10 ทีมเข้าสู่รอบสุดท้ายได้นำเสนอผลงานบนเวที โดยทีมชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษา 50,000 บาทพร้อมโล่เกียรติคุณ ซึ่งจะมีงานประกาศผลอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2563 ณ ห้องประชุมใหญ่ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด

คุณอกนิษฐ์ มาโนษยวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สาระดี จำกัด รายการเรื่องจริงผ่านจอ เผยว่า หลังจากที่โครงการสิงห์สร้างสรรค์คนทีวีได้ปรับเป็นการประกวดในรูปแบบ VLOG มีผลตอบรับที่ดี เพราะเป็นงานที่สามารถสร้างสรรค์ได้หลากหลายภายใต้แนวคิดและเทคโนโลยีที่เปิดกว้าง ในปีนี้จึงได้เพิ่มโอกาสไปยังนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ปวช. ปวส. เพราะเชื่อในศักยภาพของคนรุ่นใหม่ที่ไม่จำกัดเพียงแค่วัยหรือชั้นปี ที่พร้อมจะสนุกไปกับการทำผลงานในโจทย์ VLOG THAILAND เที่ยวไทยไปให้สุด

"แม้จะเป็นปีแรกที่เปิดให้น้องนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ปวช. ปวส. ส่งผลงานประกวดร่วมกับพี่มหาวิทยาลัย แต่ก็เป็นที่สนใจและไม่มีความหวั่นใด ๆ พร้อมลงประกวดในเวทีเดียวกันอย่างเต็มที่ ซึ่งผลงานก็ทำได้เป็นอย่างดีฝีมือเทียบเท่ากับรุ่นพี่จนสามารถฝ่าด่านเข้ามาสู่รอบที่สองกันหลายทีม ยิ่งบวกกับการได้เติมเต็มด้านแนวคิดจากวิทยากรผู้มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านการผลิตสื่อในการอบรมเชิงปฏิบัติการ จะช่วยให้แต่ละทีมทำผลงานกันในรอบสุดท้ายนี้อย่างสุดความสามารถ เพราะจากนี้แต่ละทีมต้องลงพื้นที่ผลิตผลงานเรื่องใหม่เหมือน ๆ กัน ผู้ชมก็จะได้ติดตามและสนุกไปกับน้อง ๆ เพราะจะมีการนำผลงานและเบื้องหลังของแต่ละทีมให้ชม

ในเฟซบุ๊กเรื่องจริงผ่านจอและเฟซบุ๊กโครงการสิงห์สร้างสรรค์คนทีวี พร้อมกับสามารถให้กำลังใจแต่ละทีม โดยร่วมโหวตรางวัลขวัญใจมหาชนซึ่งจะเปิดให้กดไลก์และแชร์ในเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป" คุณอกนิษฐ์ กล่าว

สำหรับ 24 ทีม ที่ผ่านเข้ารอบสอง ประกอบด้วย ทีม AITD โรงเรียนเทศบาล ๒ "อิสาณธีรวิทยาคาร" จ. บุรีรัมย์, ทีม WTF_ilm โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม, ทีมพระจันทร์ยิ้ม โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ จันทบุรี, ทีมเที่ยว Addict วิทยาลัยเทคนิคลำปาง, ทีม E-SARN TECH วิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ จ.อุดรธานี , ทีมบาโอซาเกลก้า มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, ทีม Amazing Bamboo มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม , ทีม Refreshing มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี, ทีม 100 โล Moment มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, ทีมแป๊ปเดียว เดี๋ยวไป มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ทีมนอนเต็มอิ่ม และทีม Create Again มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา, ทีม JN JOURNEY และทีม Success มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, ทีม Olivier ทีมหวานโปรดักชั่น ทีมสินุหะ และทีม DTF Fight มหาวิทยาลัยรังสิต, ทีม Midlane ทีม HMD Team ทีมลังกาสุกะ ทีมดอกไม้สามจังหวัด ทีมตาเอ็มพาณิชย์ และทีม The Mars มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

โดยบรรยากาศของการอบรมเชิงปฏิบัติการเป็นไปอย่างคึกคักและสนุกสนาน มีนักเดินทางและนักเล่าเรื่องขวัญใจคนรุ่นใหม่ คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล จากรายการ (เถื่อน) ทราเวล มาสร้างแรงบันดาลใจและแบ่งปันแนวคิดมุมมองการนำเสนอและการผลิตผลงานให้น่าสนใจ รวมถึงอดีตรุ่นพี่โครงการสิงห์สร้างสรรค์คนทีวี คุณรัฐโรจน์ จิตรพนา ซึ่งได้นำประสบการณ์ว่าด้วยการผนวกเนื้อหาการนำเสนอและหลักการตลาดเพื่อตรึงผู้ชมให้อยากดูและส่งต่อคลิป นอกจากนี้ยังมีเหล่าโปรดิวเซอร์รายการเรื่องจริงผ่านจอมาร่วมเป็นวิทยากรพี่เลี้ยงแนะนำเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงาน

ซึ่งภายหลังจากการอบรมแล้ว ทั้ง 24 ทีม ได้จับสลากจังหวัดที่จะลงพื้นที่ตามภูมิภาคของสถาบันการศึกษาที่สังกัด จาก 55 จังหวัดเมืองรองทั่วไทย โดยค้นข้อมูลและเลือกสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดนั้นได้เองไม่จำกัด แต่ต้องอยู่ภายในงบประมาณการท่องเที่ยวทั้งหมด ทีมละไม่เกิน 5,000 บาท ซึ่งทางโครงการฯ สนับสนุนให้กับทุกทีม เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเที่ยวไทยไปให้สุดตามสไตล์การนำเสนอของแต่ละทีมอย่างเต็มที่ ภายในเวลา 30 วัน จากนั้นจะเปิดให้ผู้ชมทั่วไปร่วมให้กำลังใจโหวตรางวัลขวัญใจมหาชนผ่านช่องทางเฟซบุ๊กเรื่องจริงผ่านจอและเฟซบุ๊กโครงการสิงห์สร้างสรรค์คนทีวี รวมถึงยูทูบเรื่องจริงผ่านจอ ซึ่งในวันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2563 จะจัดกิจกรรมรอบชิงชนะเลิศและมีงานประกาศผลรางวัลทั้งหมดอย่างเป็นทางการ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ