ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาติ มณีมัย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาเขตตรัง ในฐานะหัวหน้าชุด "โครงการย่านตาขาวเดล" เผยถึง การดำเนินการในโครงการนี้ว่า เป็นตัวแบบการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน โดยนำเอาหลักการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นกรอบในการดำเนนโครงการ โดยแบ่งระยะการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเข้าใจ ตั้งแต่ปี 2559-2560 ระยะเข้าถึง ช่วงปี 2561-2562 และระยะพัฒนา ในปี 2562-2563 เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนในทุกมิติอย่างยั่งยืน ให้อำเภอย่านตาขาว เป็นต้นแบบของการพัฒนาที่จะได้เผยแพร่ความรู้และหลักการดำเนินงานไปยังชุมชนอื่นได้ต่อไป
ในระยะแรกที่ริเริ่มการทำโครงการ นับตั้งแต่ปี 2559-2560 เป็น ระยะทำความเข้าใจ กับพื้นที่ที่จะลงไปเก็บข้อมูล ทีมวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่มีอาจารย์ชาวดี ง่วนสน ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยในขณะนั้น พร้อมด้วยคณาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้เข้าไปศึกษาและทำความเข้าใจชุมชนทุกมิติ โดยในปี 2559 ทีมวิจัยได้ลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูลในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งมรดกทางสถาปัตยกรรม พร้อมถ่ายทอดความรู้และข้อมูลเพื่อสร้างความตระหนักในคุณค่าของชุมชน และพบว่าเมืองย่านตาขาวมีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถที่จะพัฒนาเมืองในด้านต่างๆ ได้ จึงนำไปสู่การทำโครงการต่อเนื่อง ในปี 2560 ซึ่งเป็นการศึกษาต่อเนื่องในด้านการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสถาปัตยกรรมย่านเมืองเก่าในย่านตาขาวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และกระบวนการเกิดและการเปลี่ยนแปลงเมืองย่านตาขาว มีการศึกษาความเป็นไปได้และแนวทางในการพัฒนาเมืองเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ได้แก่ การศึกษาความเป็นไปได้สำหรับพิพิธภัณฑ์มีชีวิต การปรับปรุงการสัญจรเพื่อส่งเสริมภาพลักษ์ณด้านการท่องเที่ยว การออกแบบสวนสาธารณะขนาดเล็กในเขตเมือง เป็นต้น
ซึ่งผลจากการเข้าศึกษาโครงการย่านตาขาวโมเดลในระยะแรกนี้ พบว่า อำเภอย่านตาขาวมีแหล่งมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งป่า เขา ต้นน้ำ ลำธาร น้ำตก แม่น้ำ ป่าชายเลน มรดกทางวัฒนธรรม ได้แก่ ด้านศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น ประเภทงานไม้ งานแกะสลัก งานจักสาน มรดกทางสถาปัตยกรรม เช่น วัด มัสยิด คริสตจักร โรงพระ และบ้านเก่าที่หัวสะพานย่านตาขาวที่เป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพื้นถิ่น และมรดกทางวัฒนธรรมในรูปแบบวิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเพณีวัฒนธรรม และศิลปการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น
ต่อมา ในปี 2561 เป็นการส่งงานต่อให้กับทีมนักวิจัยจากคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ ได้เข้าร่วมโครงการและทำการศึกษาต่อยอดจาก 2 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการโครงการฯ ใน ระยะเข้าถึง โดยมุ่งเน้นส่วนสำคัญ ได้แก่ การศึกษาและรวบรวมข้อมูลด้านวัฒนธรรมของชุมชนให้ครบถ้วน ทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก เพื่อให้ได้ข้อมูลด้านวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น วิถีชีวิต ภูมิปัญญา ศิลปการแสดง ประเพณี และอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้สามารถมองเห็นอัตลักษณ์ของชุมชน และนำไปสู่การคัดสรรทรัพยากรวัฒนธรรมของชุมชนในการจัดการ การอนุรักษ์ฟื้นฟู และใช้อัตลักษณ์ของชุมชนในการต่อยอดเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในรูปแบบเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) นักวิจัยมีการพัฒนารูปแบบกิจกรรมและการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่คำนึงถึงอัตลักษณ์ชุมชนเพื่อการจัดการการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพมากขึ้น โดยในขั้นตอนนี้จะมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับชุมชน หน่วยงานในพื้นที่ และภาคีเครือข่าย เพื่อศึกษาและกำหนดแนวทางในการพัฒนาชุมชนร่วมกันอันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาและการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
และในปี 2562-2563 ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนโครงการ "ย่านตาขาวโมเดล" เข้าสู่ระยะที่ 3 คือ ระยะการพัฒนา โดย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และชุมชนย่านตาขาว ใช้ผลสำเร็จในระยะที่ 2 มาใช้ต่อยอดพัฒนา ภายใต้แนวคิด "การยกระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์" โดยเน้นไปที่การใช้อัตลักษณ์ของชุมชนเพื่อออกแบบการท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์ การพัฒนารูปแบบวัฒนธรรมและศิลปการแสดงเชิงสร้างสรรค์เพื่อสนับสนุนกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและกิจกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น แอพพลิเคชั่น เว็บไซต์ และฐานข้อมูล และการใช้ "แบรนด์ย่านตาขาว" เพื่อการสื่อสารทางการตลาด การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการจากอัตลักษณ์ และนำไปสู่การพัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมอันจะเป็นการยกระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจชุมชนทุกด้าน รวมถึงจะมีการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ชุมชนในรูปแบบสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชนตนเองแก่เยาวชนและสมาชิกในชุมชนอีกด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาติ ได้กล่าวในตอนหนึ่งของการจัดกิจกรรมรายงานผลการดำเนินงานโครงการย่านตาขาวโมเดล ปีงบประมาณ 2561 เมื่อวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมา ว่า "แม้ว่าการดำเนินโครงการย่านตาขาวโมเดล จะดำเนินมาจนเกือบสิ้นสุดการทำโครงการแล้วก็ตาม แต่ทางคณะทำงานก็ยังคงทำงานร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่องต่อไปจนจบโครงการในปี 2563 ทีมวิจัยคาดหวังว่า โครงการย่านตาขาวโมเดล จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น จากการที่ได้ร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ที่เราได้ลงพื้นที่ทำวิจัย ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ซึ่งจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในพื้นที่เพิ่มขึ้น ส่วนภาคสังคมเราคาดหวังว่าคนในชุมชนจะสามารถนำเอาองค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินโครงการดังกล่าวนี้ นำไปใช้ต่อ ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน หรือการร่วมมือร่วมใจกันของคนในชุมชนกับภาครัฐและเอกชนที่ได้เข้ามามีส่วนในการพัฒนาในครั้งนี้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่ ชุมชนได้รักษาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และมรดกทางภูมิปัญญาเอาไว้ให้คงอยู่สืบไป และนำสิ่งที่ได้จากการทำวิจัยในครั้งนี้ไปพัฒนาและต่อยอดให้ "ย่านตาขาวโมเดล" เป็นตัวอย่างของชุมชนที่เข้มแข็ง และเป็นแบบอย่างให้กับชุมชนอื่นๆ ได้ในอนาคต"