บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น หนึ่งในองค์กรเอกชนผู้ก่อตั้งโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED โดยดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน (ที่ 5 จากซ้าย) ผู้อำนวยการด้านการศึกษาและวิชาการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะฝ่ายเลขานุการภาคเอกชน โครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED เปิด "Active Learning Workshop : การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อความเป็นผู้นำด้านการจัดการเรียนรู้สำหรับสถานศึกษา" เป็นครั้งแรกที่ภาคเหนือ เพื่อส่งเสริมศักยภาพและทักษะความเป็นผู้นำให้แก่ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ รวมถึงครูผู้สอนในโรงเรียนประชารัฐที่กลุ่มทรูดูแล โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยพัฒนา และสาธิตการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดหลักสูตรการอบรมที่มุ่งเน้นกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบ "Active Learning" บูรณาการร่วมกับ "แผนพัฒนาคุณภาพโรงเรียน" ให้เกิดการยกระดับการจัดการเรียนรู้และการจัดการสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดตามบริบทในแต่ละพื้นที่
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมอบรม ได้รับความรู้และทักษะที่เป็นประโยชน์มากมาย อาทิ การเป็นผู้นำเชิงรุกในการจัดการคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการความรู้เพื่อสร้างสรรค์ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ และการบูรณาการเครื่องมือการจัดการคุณภาพเพื่อยกระดับการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยมีผู้บริหารสถาบันการศึกษาและคณะครูจากโรงเรียนประชารัฐในเขตภาคเหนือของกลุ่มทรูกว่า 493 คน จาก 162 โรงเรียน เข้าร่วม ซึ่งกลุ่มทรู จะยังคงจัดการอบรมนี้อย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2562 ซึ่งจะมีผู้เข้าร่วมอบรม รวมทั้งสิ้นกว่า 1,300 คน จาก 453 โรงเรียน ครบทั้ง 5 ภูมิภาค ตามเป้าหมาย
เกี่ยวกับโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED
โครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED ริเริ่มขึ้นในปี 2559 โดยมี 12 องค์กรเอกชนชั้นนำเป็นผู้ร่วมก่อตั้งในระยะที่ 1 และขยายผลเครือข่ายการสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมด้านการศึกษาสู่ 33 องค์กรในระยะที่ 2 เพื่อร่วมกับภาครัฐ และภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน โดยภาคเอกชน ได้นำศักยภาพขององค์กร มาร่วมให้การสนับสนุนในมิติต่างๆ อาทิ องค์ความรู้ งบประมาณ รวมถึงบุคลากร ผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner) ลงพื้นที่ปฏิบัติจริง เพื่อร่วมทำงานกับผู้บริหารโรงเรียน ภายใต้กรอบการดำเนินงานตาม 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1.การเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ 2.กลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม 3.การพัฒนาสถานศึกษาและครูผู้สอน 4.การสร้างคุณค่าและเด็กเป็นศูนย์กลาง และ 5.การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของนักเรียนและสถานศึกษา โดยตั้งเป้าหมายในการพัฒนาโรงเรียนประชารัฐ 15% ของจำนวนโรงเรียนในสังกัดสพฐ. ทั่วประเทศ