การปรับลดอันดับเครดิต สะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าฐานะทางการเงินของ BAFS น่าจะอ่อนแอลงกว่าที่คาดไว้เดิม โดยปัจจุบัน ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ BAFS ที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO –adjusted net leverage) น่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 2.5 เท่า ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า อัตราส่วนหนี้สินที่คาดว่าสูงขึ้นเป็นผลมาจากต้นทุนค่าก่อสร้างที่อาจเพิ่มขึ้นในโครงการขยายท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของประเทศไทยของ บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด หรือ FPT ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BAFS รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะมีความล่าช้าในการเปิดดำเนินการของโครงการระยะที่ 2 ของโครงการดังกล่าว
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
อัตราส่วนหนี้สินที่สูงขึ้น: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สิน FFO –adjusted net leverage ของ BAFS จะเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.5 เท่า ถึง 4.5 เท่า ในช่วงปี 2562-2563 (สิ้นปี 2561: 2.8 เท่า) เนื่องจากฟิทช์คาดว่าต้นทุนค่าก่อสร้างสำหรับโครงการขยายท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของประเทศไทยของ FPT น่าจะมีการเพิ่มขึ้นอีก และการเปิดดำเนินการของโครงการระยะที่ 2 น่าจะเลื่อนมาเป็นกลางปี 2563 ซึ่งล่าช้ากว่าที่คาดไว้เดิมประมาณ 6 เดือน ส่งผลให้รายได้และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของโครงการเข้ามาช้ากว่าที่คาด โครงการระยะที่ 1 ได้เริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 ฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินของ BAFS น่าจะเริ่มลดลงในปี 2564 มาอยู่ในระดับ 2.5 เท่าถึง 3.5 เท่า หลังจากโครงการของ FPT แล้วเสร็จสมบูรณ์ ทั้งนี้อยู่ภายใต้สมมติฐานว่า BAFS ไม่มีแผนการลงทุนอื่นใดอีก
BAFS ได้มีการเข้าร่วมประมูลในรูปกิจการร่วมค้า สำหรับโครงการระบบเติมน้ำมันอากาศยานของสนามบินอู่ตะเภาแห่งใหม่ ซึ่งจะเป็นสนามบินหลักในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) บริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทย หากกิจการร่วมค้าของ BAFS ชนะการประมูล ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ BAFS น่าจะเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ในระดับใกล้ 4.5 เท่าในช่วงปี 2562-2563 และประมาณ 3.5 เท่าในปี 2564 นอกจากนี้ BAFS ยังมีการศึกษาหาโอกาสทางการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งฟิทช์อาจมีการพิจารณาทบทวนอันดับเครดิตของ BAFS เมื่อมีการลงทุนเกิดขึ้น
ความเสี่ยงด้านอุปสงค์ของโครงการท่อขนส่งน้ำมัน: โครงการท่อขนส่งน้ำมันของ FPT ซึ่งเป็นท่อขนส่งน้ำมันเส้นแรกในภาคเหนือของประเทศไทย มีความเสี่ยงในการหาลูกค้าเพื่อมาใช้บริการ โครงการระยะที่ 1 ได้เปิดดำเนินการและให้บริการขนส่งน้ำมันส่วนหนึ่งให้แก่บริษัทน้ำมันรายใหญ่ในประเทศไทยเกือบทุกราย แม้ว่าจะยังไม่มีสัญญาระยะยาวในการขนส่งน้ำมัน ฟิทช์เห็นว่าความเสี่ยงในการหาลูกค้ามาทำสัญญาได้รับการบรรเทาลงจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในบริเวณที่ท่อขนส่งน้ำมันให้บริการที่มีอย่างต่อเนื่อง ค่าบริการที่แข่งขันได้กับการขนส่งด้วยวิธีการอื่น โดยเฉพาะทางรถบรรทุก นอกจากนี้ ฟิทช์เห็นว่าการเปลี่ยนวิธีขนส่งน้ำมันมาใช้ระบบท่อขนส่ง น่าจะมีปัจจัยสนับสนุนจากเหตุผลด้านความปลอดภัย สังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
การเติบโตของปริมาณการเติมน้ำมันที่ช้าลง: ฟิทช์คาดว่าปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานของ BAFS จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.0-3.5 ต่อปีในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 4.5 ในปี 2561 อัตราการเติบโตของปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานในปี 2562 น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 4 ที่คาดไว้เดิม เนื่องจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ซึ่งส่งผลให้การเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศลดลง ปัจจัยเหล่านี้น่าจะยังคงส่งผลต่อเนื่องในปี 2563 อัตราการเติบโตของปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานน่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินระยะไกลที่ให้บริการโดยสายการบินต้นทุนต่ำที่สนามบินดอนเมือง ในขณะที่ปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานที่สนามบินสุวรรณภูมิน่าจะค่อนข้างคงที่ในช่วงปี 2562-2563
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง: อันดับเครดิตของ BAFS สะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำในการให้บริการน้ำมันอากาศยานในประเทศไทย โดย BAFS เป็นผู้ให้บริการคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Depot Service) และเครือข่ายท่อจ่ายน้ำมันอากาศยาน (Hydrant Pipeline Network) แต่เพียงรายเดียว และเป็นผู้ให้บริการหลักในการเติมน้ำมันอากาศยาน (โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 88) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมถึงเป็นผู้ให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานแต่เพียงรายเดียว ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง BAFS อยู่ในธุรกิจที่มีการแข่งขันน้อยและได้รับประโยชน์จากอุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจที่สูงของผู้บริการรายใหม่ เนื่องจากผู้ให้บริการต้องได้รับการอนุญาตจากท่าอากาศยานนั้นๆ จึงจะให้บริการได้ ในขณะที่โครงการท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของประเทศไทยของ FPT น่าจะช่วยทำให้ BAFS มีการการะจายความเสี่ยงทางธุรกิจที่ดีขึ้นและมีขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า
ความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาน้ำมันที่จำกัด: BAFS ไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน เนื่องจาก BAFS จะเรียกเก็บเฉพาะค่าบริการเติมน้ำมันจากบริษัทน้ำมันเท่านั้น (โดยบริษัทน้ำมันเป็นผู้ขายน้ำมันให้แก่สายการบิน) นอกจากนี้ ต้นทุนหลักของ BAFS เป็นค่าสัมปทานซึ่งเป็นอัตราที่ตกลงกันก่อนตามสัญญา ทำให้อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไรของ BAFS ค่อนข้างคงที่
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
ลักษณะของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ BAFS มีความคล้ายคลึงกับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นบริษัทหลักในกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. รายได้ของ GPSC ส่วนใหญ่มาจากสัญญาการขายไฟฟ้าและไอน้ำ กับลูกค้าซึ่งมีสถานะทางธุรกิจและการเงินที่แข็งแกร่ง ดังนั้น ทั้งสองบริษัทจึงมีรายได้ที่สม่ำเสมอและสามารถคาดการณ์ได้ แม้ว่า GPSC จะมีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า BAFS แต่ก็ชดเชยด้วยสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าด้วยขนาดของธุรกิจที่ใหญ่กว่า ซึ่งสะท้อนถึงการกระจายความเสี่ยงในการดำเนินงานที่ดีกว่า โดยเฉพาะหลังจากการเข้าซื้อกิจการของ GLOW ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า รวมถึงลักษณะรายได้ที่มีสัญญาระยะยาวรองรับ ดังนั้น BAFS จึงมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับเดียวกันกับสถานะเครดิตโดยลำพังของ GPSC ที่ a(tha) โดยอันดับเครดิตของ GPSC ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับเพื่อสะท้อนถึงความสัมพันธ์ในระดับปานกลางกับกลุ่ม ปตท.
เมื่อเปรียบเทียบกับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP ALL (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย BAFS มีรายได้ที่สามารถคาดการณ์ได้ในระดับสูงกว่า CP ALL แต่ CP ALL มีสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งมาก ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่นับจากจำนวนร้านค้าที่มากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับที่สองเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ CP ALL ยังขายสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้มีความผันผวนในรายได้และอัตรากำไรที่ต่ำ CP ALL มีขนาดของธุรกิจและกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ใหญ่กว่า BAFS มาก CP ALL อยู่ในช่วงลดอัตราส่วนหนี้สิน ซึ่งทำให้มีฐานะทางการเงินอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ BAFS ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้น ทั้งสองบริษัทจึงมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับเดียวกัน
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- ปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานมีการเติบโตในอัตราประมาณร้อยละ 2.5 ในปี 2562 และร้อยละ 3.0-3.5 ต่อปีในปี 2563-2564
- โครงการขยายท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของประเทศไทยระยะที่ 2 แล้วเสร็จและเริ่มสร้างรายได้ใน เดือนกรกฎาคม 2563 โดยรายได้ของ FPT ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีแรกที่โครงการท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของประเทศไทยมีการดำเนินงานเต็มปี อยู่ในระดับ 1.3 พันล้าน-1.4 พันล้านบาท
- อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและ ค่าเช่าต่อรายได้ (EBITDAR Margin) ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ประมาณร้อยละ 56 ในปี 2562-2563 เนื่องจากเป็นช่วงต้นของการเปิดดำเนินการโครงการท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือ และเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 57-58 ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีแรกที่โครงการท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของประเทศไทยทั้งสองระยะมีการดำเนินงานเต็มปี
- ค่าใช้จ่ายลงทุนจำนวน 2.6 พันล้าน-2.7 พันล้านบาทในปี 2562 จำนวน 2.1 พันล้าน-2.2 พันล้านบาทในปี 2563 และจำนวน 500 ล้าน-550 ล้านบาทในปี 2564 ซึ่งได้รวมเงินลงทุนในโครงการขยายท่อขนส่งน้ำมัน และค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับแผนการขยายสนามบินดอนเมือง
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
-อัตราส่วนหนี้สินที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO –adjusted net leverage) ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง โดยที่ยังคงรักษาสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและโครงการท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของ FPT มีการดำเนินงานที่มีเสถียรภาพ
ปัจจัยลบ:
-อัตราส่วนหนี้สินที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO –adjusted net leverage) เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงกว่า 4.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง
-ความเสี่ยงของโครงการขยายท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของ FPT เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลให้มีต้นทุนค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นอีก การเริ่มเปิดดำเนินการที่ล่าช้ากว่าที่คาดของโครงการขยายท่อขนส่งน้ำมัน หรือกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของโครงการต่ำกว่าที่คาดเป็นอย่างมาก
สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: BAFS มีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากยอดเงินสดคงเหลือที่เพียงพอ และระยะเวลาการชำระหนี้คืนที่มีการกระจายตัวที่ดี ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 BAFS มีหนี้สินระยะสั้นที่ไม่มีหลักประกันจำนวน 466 ล้านบาทซึ่งจะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่ BAFS มี ยอดเงินสดคงเหลือและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 1.4 พันล้านบาท (ซึ่งไม่รวมเงินฝากธนาคารและพันธบัตรรัฐบาลประมาณ 579 ล้านบาท ซึ่งเป็นหลักประกันของเงินกู้ระยะยาวจากธนาคาร) นอกจากนี้สภาพคล่องของ BAFS ยังได้รับการสนับสนุนจากวงเงินสินเชื่อแบบผูกพันไว้แล้วที่ยังไม่ได้เบิกถอน (Undrawn Committed Facility) จำนวน 1.5 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 รวมถึงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง