"โครงการ วัดของเรา วัดของชุมชน" คือแนวทางการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนตามพระราชดำริ ของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๙ บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน โรงงานหลวงฯ(บ-ว-ร-ร) เพื่อสร้างความสมานฉันท์ภายในสังคม ให้ชาวชุมชนโดยรอบโรงงานหลวงฯ ทั้ง ๔ แห่ง โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่๑(ฝาง)จ.เชียงใหม่,โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๒ (แม่จัน) จ.เชียงราย,โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ (เต่างอย)จ.สกลนคร,โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๔ (ละหานทราย) จ.บุรีรัมย์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน และโรงงานหลวงฯ มุ่งเน้นชุมชนให้พึ่งพาตนเอง เป็นชุมชนที่มีความรู้ และคุณธรรมเจริญงอกงาม ด้านพระพุทธศาสนา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีมาตรฐาน ด้วยการนำองค์ความรู้และการบริหารจัดการด้านการเกษตร และนำมาแปรรูป ขยายผลสู่เกษตรกรในชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ชุมชน
คุณพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด กล่าวถึง "โครงการ วัดของเรา วัดของชุมชน" ว่า เป็นหนึ่งในโครงการเพื่อสืบสานพระบรมราโชบาย ของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๙ "บ ว ร : บ้าน วัด โรงเรียน" ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่๔ โดยบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด มีดำริที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด ตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จนกลายมาเป็น "โครงการ บ ว ร (ร) : บ้าน วัด โรงเรียน (โรงงานหลวงฯ)" ซึ่งมีความหมายว่า
โรงงานหลวงฯ ๑ แห่ง จะดูแล หมู่บ้านที่โรงงานหลวงฯ แห่งนั้นๆ ตั้งอยู่ โดยเราจะประพฤติตนเป็นหนึ่งในสมาชิกของหมู่บ้านนั้นๆ เราจะร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน และชุมชนรอบๆ โรงงานหลวงฯ พัฒนาคุณภาพชีวิต ของคนในชุมชนให้ดีขึ้นมีสุขลักษณะที่ดีขึ้น เป็นต้น
"วัด" ดอยคำ ได้ส่งบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และเป็นผู้ที่มีจิตอาสา เข้าไปร่วมเป็นผู้บริหารวัด จัดการและบริหารให้วัด ทำหน้าที่วัดให้สมบูรณ์แบบ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ "โรงเรียน" ก็เช่นเดียวกัน โดยคัดเลือกโรงเรียนที่อยู่ใกล้โรงงานหลวงฯ แห่งนั้นๆ ดอยคำจะเข้าไปช่วยด้านการบริหาร และพื้นที่ของโรงเรียน เติมเต็มในส่วนที่โรงเรียนยังมีความต้องการ เช่น สนับสนุนบุคลากรให้ความรู้ สอนในวิชาที่ดอยคำมีจุดแข็ง หรือ นำเด็กที่สนใจในสาขาวิชาที่ดอยคำทำอยู่ แล้วเด็กมีความสนใจ ก็จะรับเด็กเหล่านั้นเข้ามาทดลองฝึกงาน และนี่ก็คือ "โครงการ บ ว ร (ร)" ของดอยคำ ที่มุ่งหวังจะให้ ๑ โรงงานหลวงฯ รับผิดชอบต่อสังคมที่ตั้งอยู่ กับ หมู่บ้าน ๑ หมู่บ้าน วัด ๑ แห่ง และ โรงเรียนอีก ๑ แห่ง เมื่อพูดถึงการทอดกฐิน คนไทยถือเป็นบุญใหญ่ จึงมักจะทำกันในรูปแบบกฐินสามัคคี ตลอด ๔ ปีที่ผ่านมา ดอยคำ จัดทอดกฐินสามัคคี ณ วัดที่ตั้งอยู่ใกล้โรงงานหลวงฯ ทั้ง ๔ แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์ไว้ว่า จะหาเงินมาปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ ระบบสาธารณูปโภคของวัดให้สำเร็จเป็นแห่งๆ ไป และตั้งเป้าหมายไว้ว่า วัดทั้ง ๔ แห่ง จะต้องมีพุทธาวาส สังฆาวาส ถูกต้องเป็นสัดเป็นส่วนตามพระธรรมวินัย ที่มหาเถระสมาคมกำหนด
ดอยคำ มุ่งที่จะพัฒนาวัด ให้เป็นวัดในอุดมคติ อันได้แก่ การแยกกิจของฆราวาส กับ กิจของสงฆ์ ออกให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพื่อให้เป็นรูปแบบของการบริหารจัดการวัด ให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และถูกต้องตามพระธรรมวินัย โดยพระภิกษุสงฆ์ กำหนดให้ มีหน้าที่เผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อบรมกล่อมเกลา กุลบุตร กุลธิดา ให้มีจิตใจที่อ่อนโยน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีเมตตาปราณี ตามพุทธบัญญัติ นอกจากนั้น ยังเป็นผู้สืบทอด ขนมธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจนพิธีกรรมต่างๆ ทางศาสนา ให้ดำรงอยู่สืบไป ยิ่งไปกว่านั้น ยังต้องเป็นผู้ที่มีวัตรปฏิบัติที่งดงาม เป็นตัวอย่างกับพุทธศาสนิกชน อีกด้วย
นอกจากนี้ ดอยคำ ยังส่งเสริมให้ทำกิจกรรมทางศาสนาในทุกวันพระ โดยนำรูปแบบการอบรมธรรมะ ตามที่สมเด็จพระญาณสังวร (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) กำหนดขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยเริ่มจากสวดมนต์บูชาพระ จากนั้น พระสงฆ์ก็จะอบรมธรรมะ อย่างที่ใช้ในการครองเรือน เช่น อริยสัจ ๔ สังคหะวัตถุ ๔ หิริโอตัปปะ พรหมวิหาร ๔ ทศพิธราชธรรม ประมาณ ๑๕ ~ ๒๐ นาที จากนั้น นั่งสมาธิ อีก ๑๕ นาที ท้ายที่สุด ก็สวดมนต์แผ่ส่วนบุญส่วนกุศล ด้วยบทพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ นอกจากนั้น ดอยคำ ร่วมกับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สำรวจ วางผังพื้นที่หลัก (Master Plan) ของวัดทั้ง ๔ แห่ง ให้ถูกต้องตามรูปแบบมาตรฐานของมหาเถระสมาคม และประเพณีนิยมท้องถิ่น เพื่อให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาวัดอย่างยั่งยืนสืบไป