ศูนย์กระจายสินค้า 'อาลีบาบา’ อีคอมเมิร์ซไทยรับมืออย่างไร

อังคาร ๐๕ พฤศจิกายน ๒๐๑๙ ๑๖:๑๔
หลังจากเมื่อปีที่แล้วประเทศไทยมีข่าวขายทุเรียนให้ชาวจีนผ่านช่องทางออนไลน์อย่างครึกโครม เบื้องหลังความโด่งดังนี้มาจาก อาลีบาบา (Alibaba) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในประเทศจีน นำโดย แจ็ค หม่า (Jack Ma) ประธานบริหารอาลีบาบากรุ๊ป ที่โลดแล่นอยู่ในวงการอีคอมเมิร์ซกว่า 20 ปี และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจนเป็นที่จับตามองระดับโลก ซึ่งการที่ แจ็ค หม่า หรือ อาลีบาบา เข้ามาเคลื่อนไหวยังประเทศต่างๆ ย่อมเป็นกระแสเรียกความสนใจได้ในระดับชาติ นาทีนี้ผู้ประกอบการน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักอาลีบาบา

ทำความรู้จักอาลีบาบา (Alibaba)

อาณาจักรอีคอมเมิร์ซจีนที่ไม่ได้มีดีแค่อีคอมเมิร์ซ แต่อาลีบาบายังมีธุรกิจในเครือ เช่น ธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้ง สื่อและบันเทิง เทคโนโลยีและนวัตกรรมอื่นๆ อย่างไรก็ตามอีคอมเมิร์ซยังเป็นธุรกิจหลักในการสร้างรายได้ให้กับอาลีบาบา โดยมีทั้งโมเดลค้าปลีกและค้าส่ง ซึ่งมีทั้งในประเทศเอง และแบบข้ามพรมแดน อาทิ Alibaba, 1688, Taobao, AliExpress, Tmall, และ Lazada เป็นต้น ไม่ใช่แค่เว็บอีคอมเมิร์ซที่อาลีบาบาพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ยังมี เหอหม่า (Hema Stores) ซูเปอร์มาร์เก็ตไร้เงินสดที่ผสานโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้าไว้ด้วยกัน โดยวิธีการชำระเงินจะต้องมีแอพฯของเหอหม่าก่อน เพื่อที่จะเชื่อมต่อกับ อาลีเพย์ (Alipay) อีกหนึ่งในธุรกิจของอาลีบาบา

นอกจากนั้นยังมีบริการด้านโลจิสติกส์ (Logistics) ที่อาลีบาบาเข้าไปลงทุนเพิ่มเติม นั่นก็คือ ไช่เหนี่ยว (Cainiao Network) โดยวางแผนให้เป็น Global Hub ในการขยายการค้าข้ามพรมแดนให้กว้างไกลขึ้น เบื้องต้นมีอยู่ 5 แห่ง ได้แก่ หางโจว-จีน ดูไบ-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กัวลาลัมเปอร์-มาเลเซีย ลีเกอ-เบลเยี่ยม และมอสโก-รัสเซีย

ย้อนดูไทม์ไลน์ก่อนจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในไทย

- ก่อนหน้านี้ เมื่อเมษายน ปี 2561 ข่าวใหญ่ในแวดวงเศรษฐกิจไทยนั่นก็คือ การมาเยือนไทยของ แจ็ค หม่า เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างอาลีบาบา และรัฐบาลไทยในการลงทุนพื้นที่ EEC หรือ Eastern Economic Corridor ใจความสำคัญจะเป็นความร่วมมือในด้านต่างๆ อาทิ Smart Digital Hub เพื่อช่วยสนับสนุนสตาร์ทอัพ และ SME ไทยให้สามารถผลิตสินค้าและบริการใหม่ ขยายช่องทางการขายข้ามพรมแดนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) โดยอาศัยเทคโนโลยีจากอาลีบาบา ได้มีการเซ็นสัญญาความร่วมมือเพื่อให้การสนับสนุนด้านดิจิทัล โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว และการพัฒนาบุคลากร รวมถึงลงนามซื้อขายทุเรียนมูลค่า 428 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 13,000 ล้านบาท ซึ่งไม่กี่วันถัดมาไฮไลท์สำคัญก็คือ อาลีบาบาช่วยเกษตรกรไทยขายทุเรียน 80,000 ลูกใน 1 นาที ด้วยการจำหน่ายทุเรียนพันธุ์หมอนทองผ่านเว็บไซต์ Tmall เป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพอีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งในจีนอย่างอาลีบาบาได้อย่างเป็นรูปธรรมทีเดียว

- ช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2561 อาลีบาบาประกาศความร่วมมือกับประเทศมาเลเซีย ด้วยการเปิดสำนักงานของอาลีบาบาในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่ต้องการผลักดันให้เกิด eWTP (Electronic World Trade Platform) แห่งแรกที่ตั้งอยู่นอกประเทศจีน ซึ่งสนับสนุนด้าน โลจิสติกส์ คลาวด์คอมพิวติ้ง การพัฒนาบุคลากร และอีคอมเมิร์ซ โดยคาดหวังให้มาเลเซียเป็นศูนย์กลางการค้าของอาลีบาบาประจำภูมิภาค ซึ่งนอกจากมาเลเซียจะเป็นศูนย์กลางอีคอมเมิร์ซในการส่งสินค้าไปยังจีน อาลีบาบายังจะช่วยสนับสนุนธุรกิจ SME ท้องถิ่น พัฒนาคนรุ่นใหม่ และสร้างงานให้กับคนมาเลเซียอีกด้วย เหตุการณ์ในครั้งนี้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างว่าเหตุใดอาลีบาบาจึงได้ไปลงทุนกับมาเลเซียก่อนไทยเรา

- สิงหาคม ปี 2562 อาลีบาบาตัดสินใจลงทุนหมื่นล้านจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าอัจฉริยะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยลงนามบันทึกความร่วมมือ 4 ด้าน ได้แก่

- การใช้อีคอมเมิร์ซเพื่อส่งออกสินค้าเกษตรและโอทอป

- การพัฒนา SME เพื่อเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ

- การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรอง

- และการลงทุน Smart Digital Hub

หลังจากประกาศความร่วมมือไปแล้วกลับมีเสียงสะท้อนตามมาด้วยความกังวลในเรื่องต่างๆมากมาย

ไขข้อข้องใจศูนย์กระจายสินค้าอัจฉริยะ

ก่อนที่จะอธิบายประเด็นของศูนย์กระจายสินค้า ท้าวความไปถึง EEC (Eastern Economic Corridor) โดยมีชื่อภาษาไทยว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งประเทศไทยเองถือเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อกับกลุ่มเศรษฐกิจในทวีปเอเชีย และอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่รายล้อมไปด้วยประเทศเพื่อนบ้านอย่าง กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม (CLMV) เหมาะแก่การลงทุนในอาเซียน ซึ่ง EEC ต่อยอดความสำเร็จจากโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ Eastern Seaboard ที่ดำเนินงานมาตลอด 30 ปี สำหรับ EEC ระยะแรกนั้นตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

- การเข้ามาตั้งศูนย์กระจายสินค้าอัจฉริยะของอาลีบาบา ถือเป็นการลงทุนโครงการหนึ่งใน EEC เท่านั้น มีการคาดหวังว่าการเข้ามาของอาลีบาบาจะช่วยกระตุ้นการค้า การลงทุน ให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อีกทาง

- ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านตำแหน่งที่ตั้งอาณาเขตเชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆ รวมถึงติดกับมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ด้านการขนส่งทั้งทางเรือ และรถไฟความเร็วสูงในอนาคตได้อีกด้วย

- ศูนย์กระจายสินค้าตั้งอยู่ใน EEC ขนาด 200,000 ตารางเมตร ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และเตรียมส่งมอบให้อาลีบาบาช่วงกันยายน 2562

- กรณีการเข้ามาลงทุน 13,480 ล้านบาท ในครั้งนี้เป็นการถือครองที่ดินตามปกติ และไม่ได้รับสิทธิ์การยกเว้นภาษี 13 ปี เหมือนที่หลายๆฝ่ายกังวลกัน

- สิทธิประโยชน์ที่อาลีบาบาจะได้จากการเข้ามาลงทุนใน EEC คือ การชำระภาษีศุลกากร ทุก 14 วัน โดยจากเดิมที่ต้องชำระทุกวัน ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มักมีการเปลี่ยนคืนสินค้าหากไม่พึงพอใจ ภายใน 14 วัน

ความท้าทายของอีคอมเมิร์ซไทยหลังเปิดรับอาลีบาบา

ข่าวการเข้ามาของอาลีบาบากลายเป็นกระแสความวิตกกังวลของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ่อค้าคนกลาง ซึ่งปกติอาศัยการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนมาขายให้กับผู้บริโภคชาวไทย แต่การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าของอาลีบาบาในไทยยิ่งเป็น

- การเพิ่มสินค้า Cross Border ให้ทะลักเข้ามาจำนวนมหาศาล อ้างอิงข้อมูลจาก Priceza แพลตฟอร์มเพื่อการค้นหาสินค้า และบริการเปรียบเทียบราคา ซึ่งได้ทำการเก็บข้อมูลของสินค้าจากต่างประเทศ (Cross Border) เปรียบเทียบกับ สินค้าภายในประเทศ (Local) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2562 พบว่า ในแพลตฟอร์ม Priceza มีสัดส่วนสินค้า Cross Border 58% ในขณะที่มีสินค้า Local 42% จากจำนวนสินค้าราวๆ 50 ล้านชิ้น โดยสินค้า Cross Border ส่วนใหญ่นั้นเป็นสินค้าจากประเทศจีน

- ประเด็นภาษี หนึ่งในความกังวลถึงความได้เปรียบ เสียเปรียบ ของผู้ประกอบการชาวไทย เมื่ออาลีบาบามาตั้งศูนย์กระจายสินค้าใน EEC กลายเป็นว่าอาลีบาบาสามารถนำสินค้าเข้ามาล็อตใหญ่ ซึ่งจะถือว่าอยู่ในเขตปลอดอากรสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท จะไม่เสียภาษีนำเข้าและ Vat จากเดิมที่ต้องมีพ่อค้าคนกลาง ตอนนี้สินค้าจีนมาขายถึงมือผู้บริโภคได้โดยตรงผ่านเว็บไซต์อีมาร์เก็ตเพลสในเครืออย่าง ลาซาด้า (Lazada) ที่มีฐานความนิยมจากผู้บริโภคชาวไทยต่อเนื่องมาหลายปี

- การจัดส่งสินค้าทำได้รวดเร็วขึ้น จากปกติเวลาที่เราสั่งซื้อสินค้าจากจีนจะใช้เวลาอย่างน้อย 7 – 14 วัน ในการผ่านกระบวนการต่างๆ แต่เมื่อมีศูนย์กระจายสินค้าในไทย จะช่วยย่นระยะเวลาในการจัดส่งสินค้าให้ลดลงเหลือ 1 – 3 วัน ได้ไม่ยาก ทั้งนี้ หากมองลงไปในด้านโลจิสติกส์ซึ่งปัจจุบัน ลาซาด้า มี LEX หรือ Lazada Express eLogistics ในการขับเคลื่อนการขนส่งสินค้าในประเทศไทยแล้ว คงจะละเลย ไช่เหนี่ยว ไปเสียไม่ได้ หากจะสร้างให้เป็น Global Hub เป็นไปได้ว่า ไช่เหนี่ยว จะต้องมีที่ EEC ด้วยเช่นกัน

- ระบบนิเวศอาลีบาบา การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าไม่ได้มีผลต่ออีคอมเมิร์ซเท่านั้น หากกล่าวถึงระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซ หรือ E-Commerce Ecosystem จะมีเรื่องของ ระบบการชำระเงิน (E-Payment) ระบบขนส่ง (E-Logistics) เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเสมอ ซึ่งธุรกิจของอาลีบาบาเองนั้นเรียกได้ว่าครอบคลุมทั้งระบบชำระเงินอย่าง อาลีเพย์ ระบบขนส่งอย่างไช่เหนี่ยว หากระบบนิเวศไม่สมดุล เรียกได้ว่าเกิดการผูกขาดตลาดเจ้าใดเจ้าหนึ่ง (Monopoly) จะเกิดการต่อรองและมีอิทธิพลมากเกินไป ดังนั้น เมื่อหลายธุรกิจของอาลีบาบาเข้ามาในไทย สิ่งสำคัญที่ภาครัฐ และภาคเอกชน จะต้องคำนึงถึงคือการสร้างตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition Market) ซึ่งในตลาดจะต้องมีผู้เล่นหลายรายเพื่อแข่งขันกันได้อย่างเสรี

ผู้ประกอบการไทยเดินเกมต่ออย่างไร

ดูเหมือนว่าประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับในภาพรวมนั้นมีหลายประการ แต่การเข้ามาของอาลีบาบาอาจไม่ได้ส่งผลดีทั้งหมดกับผู้ประกอบการไทยที่ปัจจุบันนอกจากจะต้องแข่งขันกันเองแล้ว ยังจะต้องแข่งขันกับต่างชาติที่เข้ามาลงทุน อาจดูไม่ง่ายนักในสถานการณ์ต่อจากนี้ การปรับตัวเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไทยพึงมีหากต้องการก้าวข้ามสถานการณ์หรือปัญหาใดๆก็ตาม

- สินค้า คุณภาพ เอกลักษณ์ ไม่ซ้ำใคร

ถึงแม้ว่าสัญญาความร่วมมือที่ได้ทำร่วมกันไว้มีประการหนึ่งที่บอกว่า จะใช้อีคอมเมิร์ซเพื่อส่งออกสินค้าเกษตรและโอทอป ซึ่งอาลีบาบาเองก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถทำได้จริงจากจำนวนทุเรียนที่ขายไปจำนวนมาก แต่ใช่ว่าทุเรียนจะเป็นสินค้าอย่างเดียวที่มีเฉพาะในประเทศไทย แท้จริงแล้วทุเรียนมีอยู่ทั่วภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะยิ่งมีข่าวการสนับสนุนการขายทุเรียนมาเลเซียช่วงกลางปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าหากผู้ประกอบการต้องการที่จะปรับตัวให้ขายได้ในทุกสถานการณ์ เรื่องของสินค้ามีความสำคัญและเป็นหัวใจหลักของการทำธุรกิจ ดังนั้น คุณภาพของสินค้า จึงเป็นแกนหลักที่จะนำมาเป็นข้อได้เปรียบในการขายสินค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

เรื่องต่อมาคือ เอกลักษณ์ ยกตัวอย่างกรณีทุเรียน แต่ละที่ย่อมมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป เป็นไปได้ไหมที่เราจะผลิตสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเราเอง เพื่อที่จะครองใจลูกค้า และสร้างโอกาสเหนือคู่แข่ง เชื่อว่าผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้ผลิตสินค้าไทยที่มีคุณภาพ และตอบโจทย์ลูกค้าได้ไม่ยากนัก

แล้วกรณีพ่อค้าคนกลางจะทำอะไรได้บ้าง ข้อมูลของ Priceza เมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา อ้างถึงประเภทสินค้า Cross Border และ Local ที่ขายอยู่ในมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ในไทย พบว่า ประเภทสินค้าที่มีจำนวนสินค้ามากที่สุด ได้แก่

- สินค้ากลุ่มกีฬา

- สินค้าเพื่อสัตว์เลี้ยง

- เครื่องประดับ

- อะไหล่ยานยนต์

- สินค้าเพื่อความบันเทิงภายในบ้าน

หากพ่อค้าคนกลางมีแนวคิดที่จะหาสินค้ากลุ่มดังกล่าวมาขายแข่งกับสินค้า Cross Border คงจะต้องใช้กลยุทธ์เรื่องราคา และการบริการเข้ามาร่วมด้วย แต่ถ้าลองหาสินค้าที่ยังมีจำนวนไม่มากมาขายบนมาร์เก็ตเพลสบ้าง จะเป็นสินค้าประเภทดังต่อไปนี้

- สินค้าอุปโภค บริโภค

- สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม

- เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน

- อุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ

- สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต

โอกาสของพ่อค้าคนกลางยังพอจะมีช่องทางในการขายสินค้าแบบซื้อมาขายไปได้อยู่ เพียงเลือกประเภทสินค้าที่ Cross Border ยังเข้ามาตีตลาดไม่ได้เท่านั้น

- เพิ่มบริการ เพิ่มมูลค่า สร้างความประทับใจ

ความได้เปรียบของผู้ประกอบการไทย นั่นก็คือเรื่องของบริการที่เราสามารถควบคุมคุณภาพได้มากกว่าการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบริการ

- ส่งด่วน

- ส่งฟรี

- รับประกันคุณภาพสินค้า

- เปลี่ยนคืนสินค้า

- ลองสินค้าก่อนได้

- การันตีความพอใจ

- เจ้าหน้าที่บริการลูกค้า

- บริการเก็บเงินปลายทาง

- สั่งออนไลน์ รับสินค้าใกล้บ้าน

- บริการห่อของขวัญ

การเพิ่มมูลค่าให้กับการบริการเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ลูกค้านำมาใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ราคา โปรโมชัน อาจจะเป็นตัวดึงดูด หรือเรียกร้องให้ผู้คนสนใจ แต่ราคาไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเพิ่มมูลค่าด้านการบริการเพื่อแข่งขันกับสินค้า Cross Border และผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในไทย

- ช่องทางการขายครอบคลุม

วันที่อีคอมเมิร์ซได้รับความนิยม ร้านค้าออฟไลน์ต่างรู้สึกว่าได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่าการมาซื้อสินค้าที่หน้าร้านด้วยตนเอง ในวันนี้เมื่ออาลีบาบาเข้ามามีอิทธิพลต่อวงการอีคอมเมิร์ซไทย หลายฝ่ายต่างมีความกังวลว่าการขายสินค้าบนมาร์เก็ตเพลสจะขายยากขึ้นกว่าเดิม

กลยุทธ์ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจได้โดยไม่ต้องสะดุด นอกจากจะคำนึงในเรื่องของสินค้า การบริการเพิ่มเติมดังที่กล่าวไปข้างต้น ช่องทางการขายเป็นเรื่องสำคัญ หากเรามีสินค้าและบริการอันยอดเยี่ยม มันจะไม่มีความหมายเลยถ้าเราไม่มีช่องทางในการขาย

ผู้ประกอบการหลายท่านคงคุ้นเคยกับหลากหลายช่องทางการขายเพื่อให้ได้มาซึ่งยอดขาย อาทิ หน้าร้าน เฟสบุ๊ค อินสตาแกรม ไลน์ มาร์เก็ตเพลส และเว็บไซต์ของตัวเอง เป็นต้น ปัจจุบันคำว่า ออมนิชาแนล (Omni-Channel) เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น พื้นฐานคือการเชื่อมโยงทุกช่องทางเข้าไว้ด้วยกัน เช่น เมื่อสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ สามารถไปรับสินค้าที่หน้าร้านได้ โดยที่มีข้อมูลเหมือนกัน

สังเกตว่าช่องทางการขายส่วนใหญ่นั้น ผู้ประกอบการจะต้องอาศัยแพลตฟอร์มอื่นในการขายสินค้า มีเพียงเว็บไซต์ของตัวเองเท่านั้นที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการได้ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า และนำมาใช้ประโยชน์เพื่อต่อยอดในหลายๆเรื่อง ได้แก่ การบริการ การพัฒนาสินค้าใหม่ การแนะนำสินค้าให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า และอื่นๆ ทั้งหมดนี้เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า เป็นการสร้างฐานลูกค้าได้อีกทางหนึ่ง

การเข้ามาของอาลีบาบานั้นจะไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลถ้าผู้ประกอบการไทยสามารถปรับกลยุทธ์ให้พร้อมรับมือได้ทันท่วงที ประกอบกับการไม่หยุดเรียนรู้ถือเป็นคุณลักษณะสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวและสร้างยอดขายได้ในทุกสถานการณ์

สำหรับผู้ประกอบการที่กำลังมองหาโอกาสและแนวทางในการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับแนวโน้มสถานการณ์ตลาดอีคอมเมิร์ซในปัจจุบัน สามารถติดตามงานสัมมนาที่จะช่วยตอบคำถาม และชี้ทิศทางกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้ที่งาน Priceza E-Commerce Summit 2020 ก่อนที่นั่งเต็มได้แล้ววันนี้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version