ก.ล.ต. กับการดูแลผู้ลงทุนในตลาดตราสารหนี้

พุธ ๐๖ พฤศจิกายน ๒๐๑๙ ๑๖:๔๖
โดย นางสาวจอมขวัญ คงสกุล, CFA CAIA ผู้ช่วยเลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ทีมโฆษก และฝ่ายตราสารหนี้

ก่อนปี 2560 กิจการมีการระดมทุนวงกว้างผ่านการออกและเสนอขายตั๋วเงินระยะสั้น แต่นำเงินไปลงทุนในโครงการระยะยาว (maturity mismatch) และต่ออายุตราสาร (rollover) ขณะที่ตัวกลางที่ให้บริการเสนอขายตราสารหนี้ขาดการให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม รวมทั้งเกิดการผิดนัดชำระหนี้ในผู้ออกบางรายมูลค่ารวมประมาณ 15,033 ล้านบาท คิดเป็น 0.4% ของมูลค่าคงค้าง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560

ก.ล.ต. จึงได้ปรับปรุงประกาศเพื่อจำกัดการออกและเสนอขายตั๋วเงินเพื่อระดมทุนวงกว้าง แยกการกำกับดูแลผู้ลงทุนรายใหญ่ออกจากผู้ลงทุนสถาบันเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนรายใหญ่ให้ได้รับคำแนะนำ และข้อมูลที่สำคัญประกอบการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น รวมถึงเพิ่มมาตรฐานการปฏิบัติงานของตัวกลาง โดยหน่วยงานให้บริการออกตราสารหนี้ต้องคัดกรองสินค้าและแยกออกจากหน่วยงานขายอย่างชัดเจน ในขณะที่คนขายต้องเข้าใจลักษณะและความเสี่ยงตราสารหนี้เพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมแก่ลูกค้า ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 ที่ผ่านมา

จากการแก้ไขกฎเกณฑ์ดังกล่าว ส่งผลให้การระดมทุนด้วยตั๋วเงิน (unrated BE) ลดลงอย่างมาก โดย ณ สิ้นปี 2559 มีมูลค่า 133,736 ล้านบาท ขณะที่ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 มีมูลค่า 30,466 ล้านบาท การออก ตราสารหนี้ของบริษัทในกลุ่ม unrated และ non-investment grade (ตราสารหนี้กลุ่มเสี่ยง) ลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจำนวนผู้ออกก็ลดลงจาก 426 ราย (มูลค่าคงค้าง 256,316 ล้านบาท) ณ สิ้นปี 2560 เหลือ 318 ราย (มูลค่าคงค้าง 222,924 ล้านบาท) ณ สิ้นปี 2561

อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. ยังพบว่า โครงสร้างตลาดตราสารหนี้ยังมีความอ่อนไหวในบางจุด อาทิ การออกและเสนอขายตราสารหนี้กลุ่มเสี่ยงแก่ผู้ลงทุนรายบุคคล รวมถึงผู้สูงอายุ และมากกว่าครึ่งขายผ่านช่องทางการเสนอขายต่อผู้ลงทุนไม่เกิน 10 ราย ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อบังคับต้องเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ลงทุน และกรณีเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ก็มีปัญหาการเปิดเผยข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ตรงประเด็น และล่าช้า ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ลงทุนที่ไม่เข้าใจความเสี่ยงของตราสารหนี้เข้ามาลงทุน และสร้างกลไกให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลสำคัญที่เป็นปัจจุบัน รวมถึงมีช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น ก.ล.ต. จึงได้ปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลตลาดตราสารหนี้อีกครั้งในปี 2562 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น คาดว่าจะออกเกณฑ์ได้ภายในต้นปี 2563 สรุปได้ดังนี้

1. จำกัดประเภทผู้ลงทุนที่จะเข้าถึงช่องทางการเสนอขายในวงจำกัดไม่เกิน 10 ราย ซึ่งเป็นช่องทางที่ไม่บังคับให้เปิดเผยข้อมูล โดยให้เสนอขายได้เฉพาะผู้ลงทุนที่รู้จักบริษัทเป็นอย่างดี หรือสามารถเข้าถึงข้อมูล และประเมินความเสี่ยงของบริษัทได้ ได้แก่ กรรมการ ผู้บริหารของผู้ออกตราสารหนี้ และผู้ลงทุนสถาบัน

2. เดิมเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้ต่อผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นเกณฑ์เดียวกัน อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนรายใหญ่มีความเข้าใจน้อยกว่าผู้ลงทุนสถาบัน ก.ล.ต. จึงปรับปรุงเกณฑ์การออกและเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่เพื่อให้ความคุ้มครองใกล้เคียงกับผู้ลงทุนทั่วไป

3. ปรับปรุงรอบการนำส่งงบการเงินของผู้ออกตราสารหนี้จากเดิมทุกรอบปี เป็นทุกรอบครึ่งปี เพื่อให้ผู้ลงทุน มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน

4. ปรับปรุงสรุปข้อมูลสำคัญของตราสารหนี้ (factsheet) ให้กระชับ มีเฉพาะข้อมูลที่จำเป็น รูปแบบน่าอ่าน เข้าใจง่าย และเปรียบเทียบความเสี่ยงระหว่างตราสารได้ง่ายขึ้น

5. กำหนดหน้าที่ให้ผู้ออกตราสารหนี้และนายทะเบียนหลักทรัพย์ต้องรายงานการผิดนัดชำระหนี้ต่อผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อให้มีข้อมูลในการจัดการเมื่อเกิดการผิดนัดชำระหนี้รวดเร็วขึ้น

นอกจากนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ลงทุนมีช่องทางการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น และมีข้อมูลที่เปรียบเทียบกันได้ ก.ล.ต. จึงได้พัฒนาด้านการให้บริการข้อมูลที่เปิดเผยเป็นการทั่วไปอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ลงทุนสามารถดูข้อมูลการออกตราสารหนี้เป็นรายอุตสาหกรรม รายบริษัท และตราสารรายตัวได้ผ่านเว็บไซต์ ก.ล.ต. https://market.sec.or.th/public/idisc/th/ViewMoreCMR/bondfile และเปิดเผยมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ทั้งหมดเป็นรายบริษัทให้ผู้ลงทุนทั่วไปเรียกดูได้ https://market.sec.or.th/public/idisc/th/Product/DebtOutstanding

แนวคิดการปรับปรุงกฎเกณฑ์และการให้บริการข้อมูลที่กล่าวข้างต้นเป็นการปรับให้เกิดความสมดุล โดยคำนึงถึงทั้งฝั่งผู้ระดมทุนและผู้ลงทุน ก.ล.ต. อยากให้ผู้ลงทุนในตลาดตราสารหนี้ศึกษาข้อมูลให้เข้าใจถึงความเสี่ยงและผลตอบแทน ใช้ความระมัดระวังในการตัดสินใจ และอย่าลืมจัดสรรการลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ตนเองสามารถรองรับได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version