ดร.กิติพงค์ เปิดเผยช่วงหนึ่งของการปาฐกถาว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรประเทศ และมีแนวคิดในการสนับสนุนการใช้ทรัพยากรในรูปแบบ Less is more หรือ ใช้น้อยแต่ให้ผลมาก ตลอดจนมีกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำประเทศไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs โดยเฉพาะนโยบาย BCG in Action (Bioeconomy – Circular Economy – Green Economy) ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดย Bioeconomy จะเป็นการมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่าควบคู่ไปกับการรักษาสมดุลทางสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในหลากหลายสาขามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพหรือก่อให้เกิดนวัตกรรม Circular Economy ระบบเศรษฐกิจที่มีการวางแผนให้ทรัพยากรในระบบการผลิตทั้งหมดสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมและนำกลับมาใช้ใหม่ได้เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรในอนาคต และ Green Economy เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
นโยบาย BCG in Action เป็นนโยบายที่มุ่งการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ Syn Bio โดย BCG in Action มีวิสัยทัศน์ในการเปลี่ยนข้อได้เปรียบที่ไทยมีจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมให้เป็นความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยภายใต้กรอบนโยบายดังกล่าว สอวช. ได้วางนโยบายนำร่องใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ทั้งนี้ ยังได้กำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาตร์ของนโยบาย BCG ครอบคลุม 4 ด้าน คือ ด้านการสร้างคุณค่า (Value creation) ซึ่ง BCG ถือเป็นนโยบายที่จะสร้างความมั่งคั่งและยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ขยายโอกาสทางการค้าในเวทีโลก โดยจะช่วยสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ BCG ที่เพิ่มขึ้นจาก 3.4 ล้านล้านบาทในปี 2562 เป็น 4.4 ล้านล้านบาทในปี 2565 เกิดการสร้างงานใหม่ในอุตสาหกรรม BCG เกิดตำแหน่งงานรายได้สูง และเพิ่มระดับรายได้ของแรงงานในอุตสาหกรรม BCG โดยมีจ้างงานกลุ่ม Highly-skill talents, Innovative entrepreneurs และงานรายได้สูง 10 ล้านตำแหน่ง ภายใน 10 ปี และเกิด Startup และ IDEs ที่เกี่ยวกับ BCG 10,000 ราย ด้านการลดความเหลื่อมล้ำ นโยบาย BCG จะช่วยเพิ่มรายได้ชุมชนผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถดึงเอาศักยภาพพื้นที่ออกมาได้อย่างเต็มที่ โดยจะช่วยให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็น 240,000 บาท/ครัวเรือน/ปี และภายใน 5 ปี ดัชนีความมั่นคงทางอาหารไทยติดท็อป 5 ของโลก และมีการเข้าถึงยาชีววัตถุอย่างน้อย 300,000 คนต่อปี ส่วนด้านความมั่นคงบนฐานทรัพยากรธรรมชาติ BCG จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรตลอดห่วงโซ่คุณค่า ลดปริมาณของเสียจากระบบ เพื่อรักษาฐานทรัพยากรของประเทศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรลง 2 ใน 3 จากปัจจุบัน ปริมาณขยะลดลง 16.5 ล้านตัน และการจัดการท่องเที่ยวและคอนเทนต์ท่องเที่ยวติดอันดับท็อป 3 ของเอเชียแปซิฟิก
"BCG Model เป็นนโยบายที่พัฒนาตั้งแต่ระดับเศรษฐกิจฐานรากโดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเพิ่ม Productivity ให้กับสินค้าเกษตร เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตลอดจนเป็นนโยบายที่จะใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งส่วนนี้จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ และยังส่งผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมากด้วย นอกจากนโยบาย BCG แล้ว สอวช. ยังดำเนินนโยบายการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) โดยเอาจุดแข็งของประเทศ มาผลักดันให้เกิดการกล้าคิด กล้าลองที่จะกำหนดโจทย์วิจัยเพื่อกำหนดอนาคตประเทศ โดยนโยบายนี้เองได้กำหนดโจทย์วิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับ Syn Bio เช่น โจทย์วิจัยอาหารเฉพาะบุคคล โภชนพันธุศาสตร์ โจทย์วิจัยการแพทย์และสาธารณสุขขั้นแนวหน้า อาทิ การแพทย์จีโนมิกส์ การค้นพบยาชนิดใหม่ โจทย์วิจัยพลังงานแห่งอนาคต อาทิ วัสดุขั้นสูง วัสดุสำหรับการผลิตและกักเก็บพลังงาน เป็นต้น ซึ่งการวิจัยขั้นแนวหน้าเป็นนโยบายเพื่อมุ่งการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และมุ่งสู่ความเป็นเลิศ เพื่อนำประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและมั่นคง อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายลักษณะดังกล่าว ต้องมองอย่างรอบทิศและคำนึงถึงจริยธรรมด้านการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ด้วย" ดร.กิติพงค์ กล่าว
นอกจากนี้ ดร.กิติพงค์ ยังกล่าวถึงการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอีกว่า ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากการตั้งเป้าหมายการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในปี 2563 อยู่ที่ 1.2% ต่อ GDP หรือ 212,340 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการลงทุนจากภาครัฐ 25% หรือ 53,085 ล้านบาท และเป็นการลงทุนจากภาคเอกชน 75% หรือ 159,255 ล้านบาท โดยมีแนวทางกระบวนการสนับสนุนการวิจัยแบบใหม่ที่เน้นตอบโจทย์ประเทศ มุ่งเน้นเป้าหมาย ลงลึกเพื่อความเป็นเลิศ และเกิดผลกระทบสูง เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย
อย่างไรก็ตาม สำหรับการสนับสนุน Syn Bio ที่ผ่านมา สอวช. เคยให้การสนับสนุนผ่านแผนงานสเปียร์เฮดด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนด้าน Biologics ในการพัฒนายาชีววัตถุต้นแบบเพื่อใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินที่ผลิตในประเทศไทยเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก พัฒนายาชีววัตถุคล้ายคลึงสำหรับกระตุ้นเม็ดเลือดขาวสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัดที่สามารถผลิตในประเทศไทยตามมาตรฐานยุโรป รวมถึงการพัฒนาและผลิตวัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์แบบรีคอมบิแนนท์ที่มีความปลอดภัย ประสิทธิภาพเทียบเท่าและสามารถแข่งขันได้ สำหรับ Syn Bio ด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ ได้มีการสนับสนุนแผนงานด้านเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบมันสำปะหลัง เป็นต้น