เป็นศูนย์ต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านให้ติดสังคม โดยดูแลผู้สูงอายุแบบเช้าไปเย็นกลับ 5) จัดให้มีชมรมผู้สูงอายุครอบคลุมทุกพื้นที่ 6) ศูนย์เรียนรู้ผู้สูงอายุ เพื่อดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการ โดยกำหนดหลักสูตรแกนกลางศูนย์เรียนรู้ผู้สูงอายุ ได้แก่ ความรู้เรื่องอาหารและโภชนาการ การออกกำลังกาย และการจัดสภาพแวดล้อมและที่พักอาศัยที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า ในส่วนของสำนักการแพทย์ ได้จัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุคุณภาพในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ โดยมีทีมสหสาขาวิชาชีพของโรงพยาบาลทำการประเมินสุขภาพผู้สูงอายุแบบองค์รวม ส่งผลให้ผู้สูงอายุกลับเข้าสู่สังคมได้ รวมถึงการตรวจคัดกรองเพื่อวางแผนการดูแลรักษาผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันได้มีการประเมินการใช้ชีวิตประจำวัน (ADL) ค้นหาผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ที่มีความจำเป็นต้องเข้าดูแลถึงบ้าน ตามโครงการ กทม.ใส่ใจผู้สูงวัย หัวใจแกร่ง เป็นโครงการลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงโดยทีมสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และสำนักงานเขต ร่วมกันขยายการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงในชุมชน นอกจากนั้น โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ ยังให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังกับผู้สูงอายุที่มารับบริการในโรงพยาบาล รวมถึงให้ข้อมูลสุขภาพผ่านสื่อออนไลน์ของโรงพยาบาล อีกทั้ง ปัจจุบันโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ได้จัดตั้งหอผู้ป่วยชีวาภิบาล ดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่อยู่ในระยะกึ่งกลาง (Intermediate care : IMC) ที่พ้นจากระยะวิกฤต เพื่อฟื้นฟูร่างกายของผู้สูงอายุให้กลับคืนสู่สภาวะปกติก่อนกลับบ้านอีกด้วย