APP กำหนดราคาไอพีโอ 2.46 บาท/หุ้น ระดมทุน 196.80 ล้านบาท เปิดจองซื้อ 15, 18-19 พ.ย.นี้ คาดเทรด mai 22 พฤศจิกายน 62

พุธ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๐๑๙ ๑๖:๑๔
APP กำหนดราคา IPO ที่ 2.46 บาท/หุ้น ระดมทุน 196.80 ล้านบาท เงินที่ได้ใช้ลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับใช้ในการสาธิตการใช้งานให้แก่ลูกค้า และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน "ประภาส ตั้งอดุลย์รัตน์" ซีอีโอ มั่นใจ APP เป็นผู้นำในธุรกิจจัดจำหน่ายโซลูชั่นด้านการออกแบบอย่างครบวงจร ทั้งซอฟต์แวร์การออกแบบด้านอุตสาหกรรม และด้านสถาปัตยกรรมและก่อสร้าง ตลอดจนเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printer) และอยู่ในธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูง สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม "สมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บล. ฟินันเซีย ไซรัส ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและแกนนำการจัดจำหน่ายในครั้งนี้ ย้ำราคาไอพีโอสะท้อนพื้นฐานแข็งแกร่ง มั่นใจ APP จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน พร้อมควง Co-Underwrite 5 แห่ง ร่วมขายหุ้น เปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 15 และ 18-19 พฤศจิกายนนี้ และคาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาด mai 22 พฤศจิกายน 62

นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บริษัท แอพพลิแคด จำกัด (มหาชน) หรือ APP เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 80 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท ในราคา 2.46 บาทต่อหุ้น โดยจะเสนอขายให้แก่ประชาชนจำนวน 72 ล้านหุ้น เสนอขายต่อกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทและบริษัทย่อยจำนวน 8 ล้านหุ้น ซึ่งหุ้นทั้งสองส่วนจะเสนอขายในราคาเดียวกัน โดยจะเปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 15 และ 18-19 พฤศจิกายน 2562 และคาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดธุรกิจเทคโนโลยี (TECH) ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า "APP"

การเสนอขายหุ้นไอพีโอในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายโดยมีผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 5 แห่ง ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด

"ราคาไอพีโอที่หุ้นละ 2.46 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio) 10.44 เท่า โดยคำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้น จากผลการดำเนินงานในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด (ตั้งแต่ไตรมาส 4/2561 ถึง ไตรมาส 3/2562) ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และมีความน่าสนใจอย่างมาก ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจกว่า 25 ปี และศักยภาพการเติบโตของบริษัทฯ ซึ่งถือเป็นผู้นำในธุรกิจจัดจำหน่ายโซลูชั่นด้านการออกแบบ 3 มิติ และให้บริการอย่างครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งเป็นพันธมิตรกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกไม่ว่าจะเป็น ซอฟต์แวร์ Solidworks ซอฟต์แวร์ ArchiCAD เครื่องพิมพ์ 3มิติ Stratasys และเครื่องสแกน 3มิติ GOM นอกจากนี้ บริษัทยังมีจุดเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ มีรายได้จากบริการ Subscription Service คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 ของรายได้รวม ซึ่งเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ (Recurring Income) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนลูกค้าที่ใช้งานที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากในส่วนของยอดขายซอฟต์แวร์ที่เพิ่มขึ้น และลูกค้าเดิมที่ต่ออายุสัญญาบริการ Subscription ซึ่งปกติแล้วการที่ลูกค้าเลือกใช้ซอฟต์แวร์ใดแล้ว การเปลี่ยนไปใช้ซอฟต์แวร์อื่นจะเป็นไปได้ยากมาก ส่งผลให้จำนวนสัญญา Subscription Service ที่บริษัทฯ ให้บริการในปี 2559-งวด 9 เดือนแรกปี 2562 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 2,560 สัญญา เป็น 3,101 สัญญา คิดเป็นรายได้เพิ่มขึ้นจาก 156 ล้านเป็น 187 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณปีละ 10% ผมจึงมั่นใจว่า APP จะเป็นหุ้นน้องใหม่ที่ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี" นายสมภพ กล่าว

นายประภาส ตั้งอดุลย์รัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอพพลิแคด จำกัด (มหาชน) หรือ APP หนึ่งในผู้นำในธุรกิจจัดจำหน่ายโซลูชั่นสำหรับการออกแบบอย่างครบวงจร ทั้งซอฟต์แวร์สำหรับออกแบบอุตสาหกรรม (Mechanical Solution : MEC) และสถาปัตยกรรมและการก่อสร้าง (Architecture Engineering & Construction : AEC) รวมถึงผลิตภัณฑ์ด้านการออกแบบ 3 มิติ (Hardware) ได้แก่ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) และเครื่องสแกน 3 มิติ ตลอดจนการให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เปิดเผยถึง แผนการระดมทุนในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเติบโตให้กับบริษัทฯ โดยเตรียมนำเงินที่ได้จากการระดมทุนจำนวนประมาณ 196.80 ล้านบาท นำไปใช้เพื่อลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับใช้ในการสาธิตการใช้งานให้แก่ลูกค้า 20 ล้านบาท ส่วนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน

กลยุทธ์ในช่วงต่อจากนี้ APP มีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำในด้านการให้คำปรึกษาและคัดสรรผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางด้านการออกแบบและผลิต รวมถึงการก่อสร้างในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสอดคล้องกับกระแสการตื่นตัวการเข้าสู่ยุคดิจิตอลของทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย Thailand 4.0 ที่ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งกระแสของ Digital Transformation จะยิ่งช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ อย่างมากในอนาคต และนอกจากการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยแล้วบริษัทฯ ยังมีบริษัทย่อยในประเทศอินโดนีเซียที่จดทะเบียนในชื่อ PT. Indonesia AppliCAD ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญที่จะช่วยให้กลุ่มบริษัทฯ มีอำนาจต่อรองกับคู่ค้ามากขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มโอกาสในการสรรหาซอฟต์แวร์และผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ รวมถึงโอกาสในการเติบโตไปในระดับภูมิภาคซึ่งถือเป็นเป้าหมายการดำเนินธุรกิจที่สำคัญของบริษัท

สำหรับผลประกอบการล่าสุดงวดประจำ 9 เดือนแรกปี 2562 กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้รวมจำนวน 569.30 ล้านบาท กำไรขั้นต้นรวมจำนวน 263.98 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับ 46.89% และมีส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 49.59 ล้านบาท คิดเป็นอัตราอัตรากำไรสุทธิเท่ากับ 8.71%

โดยสัดส่วนรายได้หลักของกลุ่มบริษัทจากการขายและบริการ ในงวด 9 เดือนแรก ปี 2562 มีรายได้จากการขายสัดส่วน 61.46% แบ่งเป็น ธุรกิจจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์สำหรับการออกแบบ 37.39% และผลิตภัณฑ์ด้านการออกแบบ 3 มิติ 24.07% ขณะที่รายได้จากการบริการมีสัดส่วน 37.43% และรายได้อื่นๆ 1.11% ของรายได้รวม ทั้งนี้ จากการที่รายได้หลักของกลุ่มบริษัทฯ มาจากการจำหน่ายซอฟต์แวร์ SolidWorks ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์สำหรับการออกแบบอุตสาหกรรม และกลุ่มผู้ใช้งานซอฟต์แวร์ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ผลิตและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ผู้ผลิตกลุ่มวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร (IMM) กลุ่มยานยนต์ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ข้อมูลสรุปบริษัทแอพพลิแคด จำกัด (มหาชน) (APP)

บริษัท แอพพลิแคด จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2537 ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายโซลูชั่นด้านการออกแบบ และเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติอย่างครบวงจร ตลอดจนการให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง โดยกลุ่มบริษัทฯ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายจากผู้ผลิตซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์แบรนด์ชั้นนำ และสามารถแบ่งธุรกิจหลักของบริษัทฯ ดังนี้

ธุรกิจจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์สำหรับการออกแบบ เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้แก่กลุ่มบริษัทฯ ได้แก่ ซอฟต์แวร์สำหรับการออกแบบอุตสาหกรรม (MEC) ซอฟต์แวร์สำหรับการออกแบบสถาปัตยกรรมและการก่อสร้าง (AEC)

ธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านการออกแบบ 3 มิติ (ฮาร์ดแวร์) ได้แก่ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printer) และเครื่องสแกน 3 มิติ (3D Scanner) รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

ธุรกิจการบริการและฝึกอบรมการใช้งานซอฟต์แวร์ ผ่านบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท ดีอีทีไอ จำกัด และบริษัท แรบบิท โปรโตไทป์ จำกัด ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 99.99 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด นอกจากนี้ ได้ขยายตลาดไปยังประเทศอินโดนีเซียผ่าน PT. Indonesia AppliCAD (APP Indo) บริษัทย่อย ซึ่งประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายโซลูชั่นด้านการออกแบบ 3 มิติ ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 67 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version