สำหรับบทเพลงแรกของป๋าเปรมก็คือ "ใต้แสงจันทร์" ที่แต่งไว้ในปี 2545 ส่วนบทเพลงน่าสนใจอื่น ๆ นั้นก็ได้แก่ขอสัญญา, กลิ่นนาง, แค่ฝัน, หมายปอง, ไม้ขีดกับดอกทานตะวัน, รักหาย, ฉายเดี่ยว, ตาห่างใจไม่ห่าง, As if an angel, Love at large และ "ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน" ที่ถือเป็นคติประจำตัว ของป๋าเปรม นอกจากความสามารถด้านการประพันธ์เพลงแล้ว ป๋าเปรมยังสามารถเล่นเปียโนได้ โดยท่านได้ฝึกหัดเล่นเปียโนกับ "ณัฐ ยนตรรักษ์" จนสามารถเล่นเดี่ยวเปียโน (กับวงออร์เคสตร้า) ขึ้นในคอนเสิร์ตได้อย่างไหลลื่น และนี่ก็คือความสามารถทางด้านดนตรีของป๋าเปรม เป็นด้านแห่งความสุนทรีจากรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ต้นแบบของ คนทำดี เสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง ซึ่งป๋าเปรมได้เคยพูดถึงความสุขที่ได้รับจากดนตรีว่า "ดนตรีทำให้ผมมีความสุข แต่ผมจะสุขที่สุด ถ้าดนตรีสามารถส่งผลดีต่อแผ่นดิน" การกระทำและสิ่งที่ท่านดำริเป็นแรงผลักดันยิ่งใหญ่ที่มหาวิทยาลัยทักษิณจะสานต่อปณิธานด้านดนตรีและศิลปะ เพื่อมอบความสุขให้แก่คนภาคใต้ ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้รับมอบเปียโนส่วนตัวของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งท่านได้มอบให้เป็นทรัพย์สินของชาติสืบไป ทั้งนี้ให้เก็บรักษาไว้ ณ หอเปรมดนตรี มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา โดยเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร.วิชัย ชำนิ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้มอบหมายให้รองศาสตราจารย์ ไพบูลย์ ดวงจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและกิจการนิสิต สงขลา พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระวีวัฒน์ ไทยเจริญ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และนายมัฆวัต วิไลลักษณ์ หัวหน้าฝ่ายกิจการนิสิตสงขลา ได้เดินทางไปรับมอบเปียโนที่บ้านสี่เสาเทเวศน์ ตามที่ พล.อ.พิศณุ พุทธวงศ์ ในฐานะที่เป็นเลขา ฯ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แจ้งความประสงค์ และดำเนินการเคลื่อนย้ายเปียโนจากบ้านสี่เสาเทเวศร์ กรุงเทพมหานคร มายังอาคาร "หอเปรมดนตรี" มหาวิทยาลัยทักษิณ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2562 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีอาจารย์ไกรศิลป์ โสดานิล ประธานสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
เป็นผู้ควบคุมและอำนวยความสะดวกในการติดตั้งและการเทียบเสียงเปียโนเพื่อใช้ในงานที่เกี่ยวข้องในโอกาสต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระวีวัฒน์ ไทยเจริญ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเปียโนที่ได้รับมอบและกล่าวถึงประวัติของเปียโนที่ได้มอบไว้เป็นสมบัติชาติ แก่มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งได้เก็บรักษาไว้ ณ หอเปรมดนตรี อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ว่า "เปียโนดังกล่าวเป็น Baby Grand Piano ยี่ห้อ Kawai รุ่น GM-10K เลขรหัสหมายเลขเครื่อง F054211 เป็นเปียโนมือหนึ่ง ที่พล.อ.เปรมติณสูลานนท์ ซื้อมาด้วยงบประมาณส่วนตัว เมื่อปี 2552 เป็นเปียโนที่ท่านมีความรักความผูกพันอย่างมากตัวหนึ่ง และใช้สอยคลุกคลีเป็นอย่างมากในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เพราะใช้ในการฝึกซ้อมส่วนตัว และใช้เพื่อพักผ่อนหย่อนใจในยามที่มีเวลาว่าง รวมถึงได้เรียนวิชาเปียโยกับเปียโนหลังนี้ด้วย เปียโนหลังนี้ติดตั้งประจำอยู่ ณ บ้านพักรับรองสี่เสาเทเวศร์ มาจนปัจจุบัน และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ตั้งปณิธานไว้ว่าจะมอบเปียโนหลังนี้ ไว้เป็นสมบัติของชาติเพื่อประโยชน์ต่อชาติและสังคมสืบไป
ทั้งนี้คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณขอน้อมรำลึกถึงคุณงามความดีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่มีต่อมหาวิทยาลัยทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นการที่ท่านมีแนวคิดที่จะจัดหอแสดงดนตรีที่ดีแก่ภาคใต้ จากการที่ท่านได้มาฟังเพลงในการจัดงานดนตรีในสวนที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิสวนประวัติศาสตร์พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้จัดงานดนตรีในสวนครั้งแรก ซึ่งท่านได้เดินทางมาชมการแสดงคอนเสริ์ตในครั้งนั้น ปัจจุบันท่านได้อนุญาตให้ใช้ชื่อหอแสดงดนตรีและศิลปะการแสดงแห่งนี้ว่า"หอเปรมดนตรี" ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงดนตรีและศิลปะการแสดงที่สามารถรองรับผู้ชมได้มากกว่าพันที่นั่ง นอกจากนี้ท่านยังมีกองทุนที่สนับสนุนการศึกษา ที่มอบทุนการศึกษาในทุก ๆ ปีภายใต้มูลนิธิพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งปีนี้ นิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้รับทุนการศึกษารวม 4 ทุนรวมเป็นเงิน 120,000 บาท"
สำหรับอาคารหอเปรมดนตรีมหาวิทยาลัยทักษิณ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้ดำริที่จะสร้างอาคารสำหรับการแสดงดนตรีและมหรสพขนาดใหญ่ โดยมีแนวคิดในการออกแบบให้เป็นหอแสดงดนตรีที่มีระบบเสียงดีที่สุดในพื้นที่จังหวัดสงขลา เมื่อปี 2554 จากวิสัยทัศน์ในการใช้ดนตรี เสียงเพลง และศิลปะ ขัดเกลาจิตใจและยกระดับสุนทรียภาพของเยาวชนและผู้คนในแดนดินถิ่นใต้ ซึ่งมหาวิทยาลัยทักษิณรับสนองดำริดังกล่าว โดยดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน กระทั่งเสร็จสมบูรณ์ในปี 2562 เป็นอาคารสาธารณสมบัติที่สวยงาม นาม "หอเปรมดนตรี" สถานที่สำหรับการแสดงดนตรีและการแสดงมหรสพ ภายใต้แนวคิดดนตรีในมิติใหม่และรูปแบบใหม่ คือนอกจากใช้เพื่อความบันเทิงแล้วยังใช้ดนตรีเพื่อการพัฒนาสังคมในเวลาเดียวกันด้วย "หอเปรมดนตรี" จึงเป็นสัญลักษณ์ของความดีงามของแผ่นดิน และเป็นเครื่องหมายของความศิวิไลซ์ใหม่สำหรับชุมชนภาคใต้