นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า "แม็คโคร มุ่งเน้นการสร้างความเชื่อมั่นมาตรฐานอาหารปลอดภัยในกลุ่มสินค้าอย่าง ผัก ผลไม้ อย่างต่อเนื่อง โดยทีมตรวจสอบคุณภาพ ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับเกษตรกรและหน่วยงานภาครัฐในการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับสถาบันวิชาการด้านอาหารต่างๆ รวมถึงสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีงานวิชาการ และฐานข้อมูลทางด้านคุณค่าโภชนาการที่ได้รับการยอมรับ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง จึงนำมาซึ่งการลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับให้ครอบคลุมทั้งมาตรฐานอาหารปลอดภัย และคุณค่าทางโภชนาการ เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ตามแนวโน้มการเติบโตของอาหารเพื่อสุขภาพในปัจจุบัน"
"เบื้องต้นจะมีการนำข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการมาใช้ในผักผลไม้ปลอดภัย และผักผลไม้ภายใต้แบรนด์ MQP (Makro Quality Pro) ประกอบด้วย ผลไม้ 14 ชนิด ผัก 120 ชนิด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับผ่านคิวอาร์โค้ท (i-Trace) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลสำคัญต่อคนทุกช่วงวัยที่มีความต้องการโภชนาการแตกต่างกัน ซึ่งผักผลไม้ไม่ได้ให้ประโยชน์แค่เกลือแร่และวิตามินเท่านั้น แต่ยังมีสารอาหารอื่นๆ ที่ร่างกายต้องการ เฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีข้อจำกัดเรื่องอาหาร การมีข้อมูลโภชนาการจะทำให้รู้ว่า ผัก ผลไม้ แต่ละชนิดมีปริมาณน้ำตาล แป้ง หรือสารอาหารอื่นๆ อย่างไรจะได้เลือกรับประทานได้อย่างเหมาะสม"
ด้าน อ.ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถาบันโภชนาการได้สร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม โดยการนำองค์ความรู้ด้าน 'ฐานข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร (Thai Food Composition Databases)' ซึ่งเป็นข้อมูลที่แสดงปริมาณสารอาหารต่างๆ ได้แก่ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร น้ำ แร่ธาตุ วิตามิน น้ำตาล คอเลสเตอรอล กรดไขมัน เป็นต้น ซึ่งหากผู้บริโภคไม่ทราบถึงปริมาณและสัดส่วนที่สมดุลย่อมนำไปสู่ปัญหาทุพโภชนาการได้ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases, NCDs) ซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่สำคัญของประชากรไทยและทั่วโลก
"ฐานข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการของอาหารจึงมีความสำคัญมาก และเป็นที่ต้องการของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในงานสาธารณสุข อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม โดยนำไปใช้ในงานด้านต่างๆ เช่น การประเมินความเสี่ยงต่อการได้รับสารอาหารน้อยหรือมากเกินไป การแนะนำผู้บริโภคให้รู้จักการเลือกซื้อและบริโภคอาหารที่มีประโยชน์เพื่อป้องกันการเกิดภาวะทุพโภชนาการ การจัดทำสูตรอาหารให้แก่ผู้ป่วยเฉพาะโรค การวางแผนและประเมินการผลิตผลิตผลการเกษตรเพื่อให้เพียงพอในการบริโภคในประเทศ การคัดเลือกวัตถุดิบ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร การประเมินคุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์เพื่อการจัดทำฉลากโภชนาการ เป็นต้น ซึ่งสถาบันโภชนาการได้ดำเนินการพัฒนาฐานข้อมูลดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุมชนิดอาหารมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้"
อย่างไรก็ตาม ขอบเขตความร่วมมือที่เกิดขึ้น ประกอบด้วยการให้ความร่วมมือในการศึกษาและพัฒนางานวิจัยด้านอาหารเพื่อโภชนาการ อาทิ ร่วมพัฒนาฐานข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการ พัฒนานวัตกรรมอาหารผ่านโครงการวิจัยสนับสนุน การจัดทำฐานข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร และการพัฒนาห้องปฏิบัติการ
สำหรับพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก นายเรวัติ อารีรอบ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะตัวแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นสักขีพยานในการลงนามระหว่าง บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) และ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
นางศิริพร กล่าวอีกว่า "ในยุคสมัยที่ผู้คนมีความต้องการทางโภชนาการอาหารที่แตกต่างกัน นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาข้อมูลด้านอาหารมาใช้จริงในภาคธุรกิจ เรามุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการ ลูกค้าสมาชิกของแม็คโครสามารถนำข้อมูลโภชนาการไปต่อยอดสร้างเมนูใหม่ๆ เพื่อสุขภาพ อันจะเป็นการสร้างโอกาสทางการขายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยตอกย้ำความเป็นแหล่งรวมวัตถุดิบอาหารคุณภาพปลอดภัยและมีคุณค่าโภชนาการเพื่อผู้ประกอบการไทยอย่างแท้จริงของแม็คโคร"