นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. เปิดเผยว่า สถาบันนวัตกรรม ปตท. และกลุ่มบริษัท โตโยต้า เป็นพันธมิตรกันอย่างยาวนานถึง 15 ปี โดยมีจุดเริ่มต้นเมื่อเดือนธันวาคม 2547 จาก "โครงการวิจัยเรื่องเมล็ดสบู่ดำ" โครงการในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อพัฒนาไบโอดีเซลในประเทศไทยร่วมกัน จากนั้นทั้ง ปตท. และ โตโยต้า ต่างสานต่อพระราชปณิธาน ร่วมมือกันศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงาน ส่งผลให้คนไทยได้มีทางเลือกในการใช้พลังงานทดแทนที่สามารถผลิตได้เองในประเทศ ลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ โดยถือได้ว่านับเป็นโชคดีของประเทศไทยที่มีทางเลือกในการใช้พลังงานทดแทนอย่างหลากหลาย ทั้งแก๊สโซฮอล์ ที่ได้มาจากอ้อยและมันสำปะหลัง ไบโอดีเซลจากปาล์ม หรือแม้กระทั่งก๊าซธรรมชาติ (ซีเอ็นจี) จากแหล่งอ่าวไทยของเรา เป็นต้น ทั้งนี้การที่มีกลุ่มบริษัท โตโยต้า เป็นพันธมิตรทำให้เราสามารถร่วมกันทำการศึกษาผลกระทบของเชื้อเพลิงชีวภาพเหล่านี้กับเครื่องยนต์ได้ ตัวอย่างของความสำเร็จของโครงการเช่น การศึกษาการใช้น้ำมัน ไบโอดีเซลร้อยละ 10 จนนำมาสู่การจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นแนวทางในการพัฒนาเชื้อเพลิงเพื่อให้คนไทยได้ใช้พลังงานสะอาด รวมทั้งช่วยให้เกษตรกรสามารถขายผลิตผลทางเกษตรในราคาสูงขึ้นอีกด้วย สอดคล้องกับนโยบายของ ปตท. ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการอย่างสมดุล 3 หลัก คือ การพัฒนาคน (People) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (Planet) และการสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของประเทศ (Prosperity)
นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า "เป็นที่ทราบกันดีว่าแม้ว่าในหลายปีที่ผ่านมาสภาวะราคาน้ำมันจะอยู่ในภาวะที่ปรับตัวสูงขึ้น ประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศในปริมาณมหาศาล อย่างไรก็ดีประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีวัตถุดิบที่สามารถนำมาผ่านกระบวนการเพื่อผลิตเป็นพลังงานเชื้อเพลิงทางเลือกได้มากมาย ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงได้ให้การสนับสนุน ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาและใช้พลังงานทดแทนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งโตโยต้าเองในฐานะที่เป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ของเราให้สามารถรองรับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่หลากหลาย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมของเราอีกด้วย
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ดำเนินธุรกิจโดยยึดถือการพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ควบคู่กับการพัฒนาสังคมไทยเป็นสำคัญ เราจึงมีความพยายามในการนำเสนอนวัตกรรมพลังงานทางเลือก ที่ทั้งประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและนโยบายของภาครัฐ อันจะนำมาซึ่งประโยชน์แก่สังคมโดยรวม ไม่เพียงเฉพาะลูกค้าของโตโยต้า แต่ยังรวมไปถึงผู้ใช้รถที่พิจารณาเลือกใช้พลังงานทางเลือกในรูปแบบต่าง ๆ โดยภายใต้ความร่วมมือวิจัยและพัฒนาโครงการร่วมกับ ปตท. ในครั้งนี้ โตโยต้าได้เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนงบประมาณ รถยนต์ เครื่องยนต์ ตลอดจนชิ้นส่วนต่าง ๆ ในการทดลอง ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลแห่งความร่วมมือในครั้งนี้จะนำมาซึ่งประโยชน์เพื่อสิ่งแวดล้อมและเพื่อโลกของเราต่อไป"
นายยูคิโอะ โยชิดะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด กล่าวว่า "พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงเล็งเห็นศักยภาพของประเทศด้านทรัพยากรชีวมวล ซึ่งสามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงได้ จึงมีพระราชดำริส่งเสริมการพัฒนาและผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อสร้างความยั่งยืนทางด้านพลังงานให้กับคนไทย ดังนั้นเพื่อดำเนินตามรอยพระราชดำริดังกล่าว บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จึงเดินหน้าและพัฒนายานยนต์ที่สามารถใช้เชื้อเพลิงชีวภาพมาอย่างต่อเนื่อง
ตลอดระยะเวลา 15 ปีแห่งความร่วมมือด้านงานวิจัยและพัฒนาเชื้อเพลิงในยานยนต์ เราได้บรรลุความสำเร็จในโครงการสำคัญหลายโครงการ อาทิ การผลิตไบโอดีเซลจากต้นสบู่ดำ (Jatropha Biodiesel) น้ำมันดีเซลชีวภาพสังเคราะห์ (Bio-hydrogenated Diesel) การผลิตไบโอดีเซลจากสาหร่าย การผลิตเอทานอลจาก ฟางข้าว และชานอ้อย นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำคัญที่ได้ร่วมพัฒนาและเกิดผลสำเร็จในเชิงพาณิชย์ อาทิ การใช้ B20 ในรถยนต์โตโยต้า ไอเอ็มวี (IMV) รถกระบะ Hilux, Fortuner, และ Hiace, Commuter, Majesty โดยไม่มีผลกระทบต่อเครื่องยนต์ และ รถยนต์ โตโยต้า รุ่น Corolla Altis NGVสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติของไทยที่มีคุณภาพที่หลากหลายได้ ความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายนี้ ไม่เพียงแต่ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร แต่ยังมีส่วนช่วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทย ตลอดจนเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอีกด้วย"
ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในตอนท้ายว่า กว่า 20 ปี ในการดำเนินงานของ สถาบันนวัตกรรม ปตท. เรามีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาเชื้อเพลิงใน ยานยนต์ ในขณะที่กลุ่มบริษัทโตโยต้า เป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยียานยนต์ ตลอดระยะเวลาแห่งความร่วมมือ 15 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้มีการนำเสนอผลการศึกษาต่อภาครัฐเพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการกำหนดเป็นนโยบายพลังงานของประเทศ จาก "ไบโอดีเซล – แก๊สโซฮอล์ – ซีเอ็นจี" คือความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างกันที่เป็นรูปธรรม จนทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นผู้นำด้านเชื้อเพลิงชีวภาพในภูมิภาคนี้ ในวันนี้เราพร้อมเดินหน้าผลักดันเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่เหมาะสมกับประเทศไทยให้ก้าวสู่ยุค "ยานยนต์ไฟฟ้าและไฮโดรเจน" ต่อไป