นางวรินรำไพ ปุณย์ธนารีย์ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยถึงภาพรวมการสื่อสารของไทยว่า ในปัจจุบันการสื่อสารข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะช่องทางสื่อออนไลน์ มีความรวดเร็วและเข้าถึงได้ง่าย ทว่าจากการเข้าถึงง่ายดังกล่าว อาจมีผลกระทบที่ตามมา อาทิ ไม่มีการกรองข้อมูลหรือตัวสกัดกั้น ในกรณีที่ข้อมูลนั้นไม่มีข้อเท็จจริง ส่งผลให้ในบางครั้ง ผู้รับสารเกิดความเข้าใจผิด และส่งผลแง่ลบในวงกว้าง ผนวกกับกระแสข่าวเท็จ (Fake News) ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ จากเหตุผลดังกล่าว กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงได้หาแนวทางแก้ไขป้องกันข้อมูลข่าวสารที่ไม่สร้างสรรค์ สอดคล้องกับการดำเนินการของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)
ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการสกัดกั้นข้อมูลที่ไม่สร้างสรรค์ในด้านต่างๆ กองทุนจึงได้เปิดให้สมาคม องค์กร มูลนิธิ บริษัท ตลอดจนบุคคลทั่วไป เสนอโครงการที่จะสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อขอรับทุนสนับสนุน นำไปจัดทำกิจกรรมดีๆ เช่น การสร้างองค์ความรู้ การจัดคอร์สอบรม ข้อมูลที่น่าสนใจ เป็นต้น ทั้งยังตอบโจทย์ ตรงประเด็น และสามารถทำได้จริง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ พร้อมนำเสนอไปยังกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ทั้งนี้ กองทุนฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เฉลี่ยประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี โดยในปี 2562 กองทุนฯ ได้เปิดให้มีการเสนอขอรับการสนับสนุน 2ประเภท แบ่งเป็น 1.ประเภทบุคคลทั่วไป และ 2.ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ขณะที่ในปี 2563 ได้กำหนดงบประมาณไว้ 340 ล้านบาท โดยในขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบในการเสนอขอรับการสนับสนุน
นางวรินรำไพ กล่าวต่ออีกว่า ในแต่ละโครงการที่กองทุนฯ ให้การสนับสนุนนั้น มุ่งหวังประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ คือ การมีสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่สามารถสร้างการเรียนรู้และจินตนาการแก่เยาวชนและผู้คนในสังคมให้มีจำนวนมากขึ้นและหลากหลาย โดยสามารถสร้างทักษะการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อไปพร้อมๆ กัน เช่นเดียวกับโครงการ "สวัสดีวันสุข" โดยบริษัท สานฟ้า จำกัด หนึ่งในโครงการที่ได้รับทุนประเภท"โครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับประชาชนรวมทั้งผู้พิการและสูงอายุ" สำหรับโครงการ "สวัสดีวันสุข" นั้น ได้จัดทำเป็นซี่รี่ย์คลิปวิดีโอเผยแพร่ช่องทางออนไลน์ ร่วมกับการโปรโมทแบบ 360 องศา เนื้อหาส่งเสริมให้สังคมมีทัศนคติการใช้ชีวิตเชิงบวก ด้วยการหยิบยกตัวอย่างบุคคล สถานที่ ที่ให้ความสุขแก่ผู้คนและทำให้ผู้คนตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง เพื่อให้ทุกๆ วันนั้นเป็นวันที่มีความสุข
อย่างไรก็ตาม จากความหลากลายของสื่อนั้น จะมีบทบาทในการสร้างการเรียนรู้ในชุมชน ทำให้เกิดการเข้าถึงสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้มากขึ้น ง่ายขึ้น รวมถึงผลักดันให้สังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนากลไกการรู้เท่ากันและเฝ้าระวังสื่อจากทุกภาคส่วน มีพื้นที่ใช้สื่อเชิงสร้างสรรค์ในระดับชุมชนมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ จะตอบวิสัยทัศน์ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คือ "ประชาชนเข้าถึง เข้าใจ และ ฉลาดใช้สื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ด้วยนิเวศสื่อที่ดี"