รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การมาเยี่ยมชมวิทยาลัย การแรงงาน ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกอบรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อดูเกี่ยวกับการจัดฝึกอบรมด้านธุรกิจบริการโดยเฉพาะการประกอบอาหาร วิทยาลัยการแรงงานมีความพร้อมทั้งสถานที่และอุปกรณ์ในการฝึกอบรม รวมถึงวิทยากรที่มาให้ความรู้ ความสามารถ เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับต้นๆของประเทศในด้านโภชนาการและการปฏิบัติหน้าที่ คนครัวบนเรือ ปัจจุบันกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.)ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมในสาขาการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ (Food and Catering) อยู่แล้ว ในอนาคตจะเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น พร้อมกับขยายพื้นที่ให้สามารถดำเนินการได้ทั่วประเทศ เพราะตำแหน่งคนครัวบนเรือยังขาดแคลน และตลาดแรงงานมีความต้องการเป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากเยาวชนและบุคคลทั่วไปมองว่าการทำงานบนเรือมีความยากลำบากและเสี่ยงอันตรายจึงไม่สนใจทำงานในด้านนี้ ในข้อเท็จจริงแล้วด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป มีความปลอดภัยสูงขึ้นและรายได้สูงมากหลายคนสามารถเก็บเงินและส่งเงินให้กับครอบครัวมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ด้านนายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กพร. จัดฝึกอบรมหลักสูตร การจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ (Food and Catering) ให้แก่คนครัวบนเรือ เป็นการปฏิบัติตามอนุสัญญา ว่าด้วยแรงงานในกิจการทางทะเล ค.ศ.2006 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้คนครัวบนเรือ ต้องผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานที่ได้รับการรับรองอย่างเช่น กพร. และสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงแรงงานด้านการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน เพิ่มขีดความสามารถของแรงงานไทย
ที่ไปทำงานต่างประเทศ ในปีงบประมาณ 2563 จะได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ที่มีความพร้อมทั้งสถานที่และวิทยากร ดำเนินการฝึกอบรมต่อไป การเข้าเยี่ยมชมวิทยาลัยการแรงงานในครั้งนี้ เป็นการฝึกอบรมรุ่นที่ 1/2563 สาขาการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ (Food and Catering) ดำเนินการโดยสพร. 13 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการ จำนวน 6 รุ่น รุ่นละ 20 คน ณ อาคารวิทยาลัยการแรงงาน ดินแดง กรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีสพร.ที่พร้อมดำเนินการอีก เช่น สพร.3 ชลบุรีสพร. 9 พิษณุโลกสพร.11สุราษฎร์ธานีและสนพ.ตรัง เป็นต้น
กัปตันพงษทร คงลือชา ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายคนประจำเรือ บริษัท โทรีเซน (กรุงเทพ) จำกัด และเป็นวิทยากรสาขาการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ ให้ข้อมูลว่า แนวโน้มความต้องแรงงานบนเรือในปี 2020 มีความต้องการกว่า 75,000 อัตรา และในปี 2025 จะมีความต้องการ 125,000 อัตรา ถึงแม้ว่าจะมีสถาบันการศึกษาด้านพาณิชย์นาวี ผลิตนักศึกษาในด้านนี้ปีละกว่าแสนคน ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากส่วนหนึ่งไปประกอบอาชีพอื่น ตำแหน่งคนครัวบนเรือ เป็นตำแหน่งที่มีรายได้ค่อนข้างสูง คนครัวบนเรือขนส่งระหว่างประเทศ จะมีรายได้เดือนละ 30,000-50,000 บาท ทักษะฝีมือของแรงงานไทยด้านอาหารไม่น่าเป็นห่วง แต่ที่ต้องปรับตัวคือเรื่องของภาษา
นายอัครเดช มณฑา หรือคุณจี้ จบ ม. 6 ทำงานอยู่ในเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศกว่า 5 ปีในตำแหน่ง พนักงานทั่วไป เงินเดือนประมาณ 30,000 บาท เข้ามาอบรมเพราะต้องการเลื่อนตำแหน่งเป็นคนครัวบนเรือ ซึ่งต้องผ่านการอบรมสาขาการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือก่อนจึงจะสามารถทำงานในตำแหน่งดังกล่าวได้และหากได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นคนครัวบนเรือ จะมีรายได้ที่สูงกว่านี้แน่นอน "การทำงานบนเรือเป็นงานที่ดีมาก ปัจจุบัน มีเงินส่งให้กับทางบ้าน มีเงินชำระหนี้ มีเงินสร้างบ้านและมีเงินเก็บ ทำให้ชีวิตในวันนี้ดีขึ้นมาก แต่ต้องบอกว่าการทำงานทุกอย่างต้องอดทน และทำงานให้สนุกแล้วเราจะมีความสุข" อัครเดชกล่าวทิ้งท้าย