ม.ทักษิณ ลงนามความร่วมมือเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก สพม.เขต 16

พุธ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๐๑๙ ๑๓:๕๓
คณะศึกษาศาสตร์ ม.ทักษิณ ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 16 มุ่งยกระดับคุณภาพครูเชิงพื้นที่ และพัฒนานักเรียน พัฒนาคุณภาพการศึกษา วิจัย และบริการวิชาการสู่สังคม

เมื่อวันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยทักษิณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้จัดพิธีลงนามโครงการความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กับ เครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 16 สำหรับบันทึกลงนามความร่วมมือฉบับนี้ทำขึ้นระหว่าง คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรวดี กระโหมวงศ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ กับเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 16 โดยผู้อำนวยการโรงเรียนหรือผู้แทนโรงเรียน จำนวน 25 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนสทิงพระชนูปถัมภ์ โรงเรียนตะเครียะวิทยาคม โรงเรียนสามบ่อวิทยา โรงเรียนคลองแดนวิทยา โรงเรียนกระแสสินธุ์วิทยา โรงเรียนธรรมโฆสิต โรงเรียนชะแล้นิมิตวิทยา โรงเรียนคูเต่าวิทยา โรงเรียนหาดใหญ่พิทยาคม โรงเรียนหาดใหญ่เจริญราษฎร์พิทยา โรงเรียนปากจ่าวิทยา โรงเรียนบางกล่ำวิทยา รัชมังคลาภิเษก โรงเรียนรัตนพลวิทยา โรงเรียนจะนะวิทยา โรงเรียนทับช้างวิทยาคม โรงเรียนเทพพิทยาภาณุมาศ โรงเรียนเขาแดงกุศลวิทยา โรงเรียนกอบกุลวิทยาคม โรงเรียนปาดังติณสูลานนท์ โรงเรียนไม้แก่นประชาอุทิศ โรงเรียนจะโหนงพิทยาคม โรงเรียนควนกาหลงวิทยาคม (นิคมวัฒนา) โรงเรียนปาล์มพัฒนวิทย์ โรงเรียนสาครพิทยาคาร โรงเรียนท่าศิลาบำรุงราษฎร์ และได้รับเกียรติจากนายศังกร รักชูชื่น ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 16 อาจารย์ ดร.สุธาสินี บุญญาพิทักษ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และ นายวีระศักดิ์ บุญญาพิทักษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 16 ร่วมลงนาม และได้รับเกียรติจากทีมผู้บริหารคณะศึกษาศาสตร์ รองคณบดี ผู้ช่วยคณบดี และหัวหน้าสาขาวิชา บุคลากรของคณะศึกษาศาสตร์ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม

ทั้งนี้คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มีเจตนารมณ์ ที่จะให้ความร่วมมือกับโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นการการศึกษามัธยมศึกษา เขต 16 จำนวน 25 โรงเรียน ในการร่วมคิดและร่วมพัฒนาทางวิชาการ วิจัย บริการวิชาการ และด้านอื่นๆ อันก่อให้เกิดประโยชน์ โดยได้ทำความตกลงร่วมกันที่จะประสานความร่วมมือกันในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกันโดยคำนึงถึงศักยภาพของทรัพยากรที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ ภายใต้ผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ภายใต้ระยะเวลาการดำเนินงาน 2 ปี โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อยกระดับคุณภาพครูเชิงพื้นที่ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา วิจัย และบริการวิชาการสู่สังคม ซึ่งมีขอบเขตของความร่วมมือ 5 ประการคือ

1. การพัฒนาเพิ่มพูนศักยภาพทางวิชาการแก่ครูผู้สอน

2. การพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน กิจกรรมทางวิชาการ วิจัย และบริการทางวิชาการ อย่างเหมาะสม

3. ร่วมสร้างสรรค์องค์ความรู้ พื้นที่นวัตกรรม โดยใช้วิจัยเป็นฐาน

4. สนับสนุนแหล่งเรียนรู้และวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ

5. สนับสนุนการผลิตและพัฒนานิสิตครูคณะศึกษาศาสตร์ ตลอดจนการฝึกปฏิบัติการสอนอย่างมีคุณภาพ

อาจารย์ ดร.สุธาสินี บุญญาพิทักษ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า รูปแบบความร่วมมือระหว่างคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กับ เครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 16 เริ่มต้นจากต้นทุนทางวิชาการที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ เรื่อง ความสัมพันธ์ของเครือข่ายที่มีมาเนิ่นนาน เช่นการส่งนิสิตฝึกประสบการวิชาชีพครู กิจกรรมการพัฒนาครูของโรงเรียนมัธยมศึกษา และเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก ประกอบกับคณะศึกษาศาสตร์ มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตและพัฒนาครูหลายเรื่อง เพื่อให้สอดรับกับแผนพัฒนาชาติ 20 ปี เป้าหมายของชาติมุ่งเน้นคุณลักษณะผู้เรียนที่พึงประสงค์ดังนั้นสถาบันการศึกษาจึงเปรียบเสมือนจิ๊กซอที่จะต้องต่อเพื่อให้เห็นภาพของการจัดการศึกษาที่สมบูรณ์ เพื่อลบคำพูดที่ว่าการศึกษาไม่ตอบโจทย์ของการพัฒนาประเทศ ปัญหาของการพัฒนาส่วนหนึ่งมาจาก "การจัดการศึกษา"

สำหรับงานวิชาการและงานวิจัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เห็นว่าโรงเรียนขนาดเล็กได้รับผลกระทบอย่างมากทางวิชาการในเรื่องการฝึกปฏิบัติการสอน จากเดิมที่กำหนดไว้ว่า มหาวิทยาลัยจะส่งนิสิตฝึกสอนได้โรงเรียนต้องผ่านเกณฑ์ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ( องค์การมหาชน ) หรือ สมส. แต่เป็นเรื่องน่ายินดีที่ครุสภามีการปรับเปลี่ยนนโยบายและเล็งเห็นว่า โรงเรียนทุกโรงเรียนเป็นแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพได้อย่างแท้จริง ซึ่งมหาวิทยาลัยทักษิณสามารถส่งนิสิตฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูไปยังโรงเรียนได้ ถ้าโรงเรียนมีความพร้อมเช่น มีครูพี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์ตรง มีคุณวุฒิตรงตามที่กำหนด อีกทั้งการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในปัจจุบันมีรูปแบบเปลี่ยนไป ไม่ใช่การฝึกสอนในปีสุดท้าย แต่จะเริ่มฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูตั้งแต่ปี 1 โดยเริ่มเรียนรู้บริบทและภาพรวมของโรงเรียนให้นิสิตได้เห็นมุมมองทุกแง่มุมของการเป็นนักการศึกษา เมื่อขึ้นปีที่ 2 ทำหน้าที่เป็นครูผู้ช่วย ปีที่ 3 ฝึกปฏิบัติการสอน และปีที่ 4 ปฏิบัติการสอน ดังนั้นโรงเรียนกับมหาวิทยาลัยจึงต้องทำงานร่วมกันเพื่อผลิตครูที่ดีคืนสู่สังคม มหาวิทยาลัยทักษิณมีต้นทุนทางด้านศาสตร์ต่าง ๆ ที่จะสนับสนุน เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ดังนั้นการผลิตและพัฒนาครูเป็นหน้างานใหม่ โดยเฉพาะประเด็นที่รัฐบาลต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงมั่นใจได้ว่าโรงเรียนขนาดเล็กเป็นหัวใจสำคัญ ทั้งนี้คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ในฐานะ "มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม" ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับโรงเรียนเครือข่ายขนาดเล็กในพื้นที่เป็นการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาที่มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับพื้นที่ภาคใต้ จึงต้องให้ความสำคัญกับโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ถ้าไม่แก้ไขเรื่องการศึกษา ปัญหาของความยากจนก็แก้ไขไม่ได้ ท้ายที่สุดจะเป็นปัญหาต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว การร่วมมือกันทำงานโดยใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ร่วมกันทำงานโดยใช้วิธีการบูรณาการและเกื้อกูลกัน เพราะองค์ความรู้เกิดจากการลงมือทำจริงไม่ใช่เพียงแค่ในตำรา

สำหรับการทำงานวิจัยในอนาคต ต้องเป็นการวิจัยเชิงบูรณาการและใช้องค์ความรู้มากกว่า 1 ศาสตร์ ดังนั้นการที่องค์กรเครือข่ายต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมมือในการทำงานวิจัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ นักการศึกษาต้องใช้งานวิจัยเป็นฐาน เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนกระบวนการจัดการศึกษาให้ยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กยากจนได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น คณะศึกษาศาสตร์จึงจำเป็นต้องลงไปช่วยดูแลและขับเคลื่อนกระบวนการการจัดการศึกษาให้เกิดความเข้มแข็งต่อไป

นอกจากนี้ อาจารย์ ดร.เกษม เปรมประยูร รองคณบดีฝ่ายวางแผนและบริการวิชาการ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "แนวนโยบายในการทำงานบริการวิชาการของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กับเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 16 เน้นรูปแบบการบูรณาการร่วมกัน โดยเฉพาะงานด้านบริการวิชาการ ไม่เน้นการให้และการรับเพียงอย่างเดียว แต่ทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมด้วยช่วยกันในการพัฒนาหลักสูตรภายใต้บริบทที่มุ่งให้นักเรียนคิดและพัฒนาต่อยอดผลการศึกษาไปสู่การทำงานได้จริงในอนาคต"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม