3 ปัจจัยผลกระทบแผ่นดินไหวระยะไกลต่ออาคารสูงในกรุงเทพฯ

พฤหัส ๒๑ พฤศจิกายน ๒๐๑๙ ๑๑:๒๕
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 5.9 ริกเตอร์ ที่เกิดขึ้นที่ประเทศลาวเมื่อเช้าวันที่ 21 พ.ย. 62 ทำให้อาคารสูงหลายแห่งใน ก.ท.ม. ได้รับแรงสั่นสะเทือน ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวดังกล่าวเป็นแผ่นดินไหวระดับกลางและเป็นแผ่นดินไหวระยะไกลประมาณ 600-700 กม. แต่ก็ทำให้อาคารหลายแห่งใน กทม. ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมี 3 ปัจจัยที่แผ่นดินไหวมีผลกระทบต่ออาคารสูงใน ก.ท.ม. ที่ต้องระวัง

- สภาพชั้นดินของ กทม. เป็นชั้นดินเหนียวอ่อน ดังนั้นแม้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นจากระยะไกล แต่ด้วยสภาพชั้นดินของ กทม. จะขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้แรงขึ้นได้อีก 3-4 เท่า จึงทำให้อาคารได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวดังกล่าว

- อาคารสูง เช่น คอนโดมีเนียม อาคารสำนักงาน ที่มีความสูง 10 ชั้นมีค่าความถี่ธรรมชาติต่ำ ซึ่งเป็นค่าความถี่การสั่นของอาคารที่ใกล้เคียงกับการสั่นไหวของพื้นดิน ทำให้เกิดการสั่นเข้าจังหวะกันระหว่างพื้นดินและอาคาร ทำให้อาคารสูงมีการสั่นสะเทือนที่แรงกว่าอาคารทั่วไป

- อาคารสูงหลายแห่งใน กทม. หากก่อสร้างก่อนปี 2550 มีแนวโน้มที่จะไม่ได้ออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหว เนื่องจาก กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนักความต้านทานความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว เริ่มประกาศใช้บังคับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา

จากปัจจัยทั้ง 3 นี้ทำให้อาคารสูงหลายแห่งมีการสั่นไหวที่รุนแรงกว่าปกติ ทั้งนี้ การสั่นไหวของอาคารใน กทม. เนื่องจากแผ่นดินไหวเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีตเช่น ในปี พ.ศ. 2547 เกิดแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดียขนาด 9.3 ริกเตอร์ และในปี 2554 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ริกเตอร์ในประเทศลาว

สำหรับแผ่นดินไหวที่อาจส่งผลกระทบต่ออาคารสูงใน กทม. อาจมาจาก 3 แหล่งได้แก่ 1. บริเวณรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกในมหาสมุทรอินเดียมีระยะห่างจาก กทม.ประมาณ 1200 กม. 2. แผ่นดินไหวทางภาคเหนือและจากประเทศลาวมีระยะห่างจาก กทม. ประมาณ 600-700 กม. และ 3. แผ่นดินไหวที่มาจากทางภาคตะวันตกได้แก่ จ. กาญจนบุรี และจากประเทศพม่า มีระยะห่างจาก กทม. ประมาณ 300-400 กม.

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เผยต่อว่า เราควรให้ความใส่ใจกับแผ่นดินไหวที่มาจากทิศตะวันตกและประเทศพม่าด้วย เนื่องจากมีรอยเลื่อนที่มีพลังคือ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ นอกจากนี้ยังมีรอยเลื่อนสะแกงในประเทศพม่า ซึ่งอยู่ห่างในระยะประมาณ 400 กม. และอาจเกิดแผ่นดินไหวได้รุนแรงถึง 8.5 ริกเตอร์ หากเกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบให้อาคารใน กทม. ได้รับความเสียหายได้

สำหรับผลกระทบของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศลาวในครั้งนี้นั้น คิดว่าอาจมีผลกระทบให้อาคารสั่นไหว แต่คงไม่กระทบต่อโครงสร้างมากนัก เนื่องจากเป็นเพียงแผ่นดินไหวระดับปานกลางและเกิดขึ้นค่อนข้างไกลจาก กทม. อย่างไรก็ตามแนะนำให้เจ้าของอาคารตรวจสอบอาคารของตนว่ามีรอยร้าวที่บริเวณใดบ้าง เช่น เสา คาน ผนังอาคาร เป็นเบื้องต้น และหากตรวจพบรอยร้าวก็ควรแจ้งวิศวกรเข้าตรวจสอบเหตุการณ์ด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO