นักวิจัยสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ม.มหิดล คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ด้านชีวโมเลกุลแปลงเพศกุ้งก้ามกรามปลอดโรคโตไว สายพันธุ์ MU1 เพื่อเพิ่มผลผลิต ช่วยเศรษฐกิจของประเทศ

พฤหัส ๒๑ พฤศจิกายน ๒๐๑๙ ๑๖:๕๒
มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล และสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ร่วมกันแถลงข่าวการเปิดตัว "แม่กุ้งก้ามกรามแปลงเพศต้นแบบ (MU 1) ขยายปริมาณสู่ตลาดผู้บริโภคเป็นผลสำเร็จ" ณ ห้องประชุมชั้น 1 สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ประธานแถลงข่าว กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็น World Class University และได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ของประเทศไทยติดต่อกันหลายปี เรามีนโยบายสนับสนุนให้นักวิจัยได้มีโอกาสทำงานวิจัยที่ครบวงจร จากต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ต่อสังคมและเชิงพาณิชย์ได้อย่างครบวงจร

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) กล่าวว่า ผลงานสำคัญเรื่องนี้ iNT ได้เข้ามาดูแลการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และสนับสนุนการนำผลงานกุ้งก้ามกรามแปลงเพศ MU1 ไปใช้ประโยชน์ โดยสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล และ iNT ได้สร้างความร่วมมือกับบรรจงฟาร์ม ซึ่งได้สนับสนุนทุนเพื่อนำผลผลิตไปทดสอบและจำหน่ายกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามต่อไป ซึ่งในอนาคตจะมีการขยายผลและพัฒนาเพิ่มเติม โดยมุ่งผลเพื่อช่วยสร้างรายได้แก่เกษตรกร และให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสู่ผู้บริโภคต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล เป็นจุดเริ่มต้นของสถานที่บ่มเพาะงานวิจัยในระดับแนวหน้าของประเทศจำนวนมาก ผลงานหลายชิ้นมีผลกระทบและมูลค่าสูงในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งสามารถตอบโจทย์การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี ซึ่งจากงานวิจัยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์กุ้งก้ามกราม MU1 ได้สร้างความรู้ใหม่ด้านชีวโมเลกุลของกุ้ง โดยการปรับปรุงวิธีการเพิ่มผลผลิตกุ้งก้ามกรามที่ปลอดภัยและมีคุณภาพสูงเพื่อเกษตรกรไทย

ดร.สุพัตรา ตรีรัตน์ตระกูล สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คิดค้นและพัฒนาแม่กุ้งก้ามกรามแปลงเพศต้นแบบ MU1 กล่าวว่า "กุ้งก้ามกราม" หรือเรียกชื่ออื่นว่า "กุ้งแม่น้ำ" ชนิดที่พบในประเทศไทย ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า M. rosenbergii เนื่องจากมีเนื้อมาก อีกทั้งเนื้อแน่น และมันอร่อย จึงนิยมนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ต้มยำ เผา หรือ ย่าง เป็นต้น ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในจังหวัดต่างๆ แถบภาคกลางของไทย เช่น สุพรรณบุรี นครปฐม ฉะเชิงเทรา และราชบุรี เป็นต้น

จากสถิติของกรมประมง ในช่วง 9 เดือนแรกของปี พ.ศ.2561 ประเทศไทยมีการส่งออกกุ้งก้ามกรามไปยังตลาดต่างประเทศ ปริมาณ2,873.6 ตัน คิดเป็นมูลค่า 344 ล้านบาท โดยตลาดหลักที่มีมูลค่าการส่งออกกุ้งก้ามกรามมากที่สุดของไทย คือ เมียนมาร์ รองลงมา คือ เวียดนาม และจีน ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ โดยมีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้น ซึ่งร้อยละ 87.4 ที่ส่งออกไปยังจีนเป็นกุ้งก้ามกรามสำหรับทำพันธุ์

กุ้งก้ามกรามมีความยาวประมาณ 13 เซนติเมตร พบใหญ่สุดถึง 1 ฟุต น้ำหนักราว 1 กิโลกรัมการจำหน่ายกุ้งก้ามกรามของเกษตรกรในภาคกลาง ส่วนใหญ่จำหน่ายในราคาเฉลี่ยขนาด 20-30 ตัว/กก. 31-40 ตัว/กก. และ 40 ตัวขึ้นไป/กก. ที่เกษตรกรขายได้ในปี พ.ศ.2561ราคากิโลกรัมละ 234 – 175 -149 บาท ตามลำดับ (ข้อมูลสำนักงานประมงจังหวัดราชบุรี)

การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในปัจจุบันมีจุดเริ่มต้นจากการผลิตลูกกุ้งก้ามกรามในโรงเพาะฟัก จากนั้นนำลูกกุ้งก้ามกรามมาอนุบาลจนมีขนาด250-300 ตัว / กก. แล้วปล่อยลงเลี้ยงในบ่อดินจนกุ้งก้ามกรามโตแล้วจับขาย ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 6-7 เดือน โดยส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงกุ้งก้ามกรามร่วมกับกุ้งขาว เพื่อลดความเสี่ยงต่อความเสียหายจากโรคระบาดในกุ้งขาว

นอกจากนี้ แม้ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่จะวางแผนการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามเพื่อให้จับขายได้ในช่วงเทศกาลก็ตาม แต่ผลผลิตยังไม่เพียงพอและส่งผลให้กุ้งก้ามกรามขาดตลาด จึงได้มีการพยายามปรับปรุงสายพันธุ์ และรูปแบบการเลี้ยงขึ้นใหม่ โดยเป็นการเลี้ยงแบบเพศผู้ล้วน เพื่อให้ได้ลักษณะตามที่ต้องการ เช่น โตเร็ว เนื้อและรสชาติดี ทนต่อโรค และระยะเวลาเลี้ยงสั้นลง

ดร.สุพัตรา ตรีรัตน์ตระกูล กล่าวต่อไปว่า ตนได้ริเริ่มคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ด้านชีวโมเลกุล โดยการนำกุ้งก้ามกรามเพศผู้ที่ปลอดโรค สุขภาพดี โตเร็ว มากระตุ้นให้เกิดการแปลงเพศเป็นเพศเมียด้วยสารประกอบชีวโมเลกุล จนกระทั่งได้กุ้งก้ามกรามเพศผู้ที่มีเพศสภาพภายนอกเป็นเพศเมีย เมื่อนำไปผสมกับพ่อพันธุ์กุ้งก้ามกราม ก็จะให้ลูกก้ามกรามเพศผู้ โดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) ได้เข้ามาดูแลการขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวสาร และกรรมวิธีผลิตแม่กุ้งก้ามกรามแปลงเพศเพื่อให้แม่กุ้งก้ามกรามสามารถผลิตได้เฉพาะลูกกุ้งก้ามกรามที่เป็นตัวผู้ได้ โดยได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้วทั้ง 2 เรื่อง นอกจากนี้ ยังได้รับความสนใจจากบรรจงฟาร์มในการร่วมมือทางวิชาการเพื่อต่อยอดงานวิจัยในการผลิตลูกกุ้งก้ามกรามเพศผู้ ตั้งแต่ปี 2561 ไปยังฟาร์มอนุบาลลูกกุ้งก้ามกราม และเกษตรกรตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ทั้งภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ

คุณบรรจง นิสภวาณิชย์ เจ้าของบรรจงฟาร์ม จ.ฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า หลังจากบรรจงฟาร์มได้แม่พันธุ์กุ้งก้ามกรามต้นแบบ MU1 จากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการผลิตและส่งให้ลูกค้า โดยกระจายไปยัง 2 โรงเพาะฟัก ได้แก่ ฟาร์มลูกกุ้งเศรษฐี และปะการังฟาร์ม เพื่ออนุบาลให้เป็นกุ้งคว่ำ หลังจากนั้นทั้ง 2 ฟาร์มนี้จะกระจายกุ้งคว่ำไปสู่เกษตรกรเพื่อเอาไปเลี้ยงในบ่อดินให้เป็นกุ้งเนื้อต่อไป ซึ่งภาคีเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในประเทศไทยมีเป็นจำนวนมาก เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นน้ำจืด ซึ่งภาคีเราที่มีอยู่กระจายทั่วประเทศได้ให้การตอบรับแม่พันธุ์กุ้งก้ามกรามต้นแบบ MU1 เป็นอย่างดี โดยทำให้เกษตรกรมีกำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งการที่บรรจงฟาร์มให้การสนับสนุนงานวิจัยผลิตลูกกุ้งก้ามกราม MU1 เพื่อผลักดันสู่ภาคธุรกิจนั้น ถือเป็นการช่วยเศรษฐกิจของประเทศด้วย

ด้าน คุณสมประสงค์ เนตรทิพย์ เจ้าของฟาร์ม ลูกกุ้งเศรษฐี จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ลูกกุ้งก้ามกราม MU1 มีระยะการเจริญเติบโตที่สั้น และเข้าสู่ระยะคว่ำเร็วมาก โดยที่ฟาร์มใช้เวลาเลี้ยงเพียง 14 วัน พบลูกกุ้งก้ามกรามเริ่มตัวคว่ำ วันที่ 15 คว่ำร้อยละ 80 วันที่ 16 คว่ำเกือบหมด วันที่ 17คว่ำ 100% หลังจากเช็คสุขภาพตัวลูกกุ้งก้ามกราม รอดูอาการหลังขาวจนครบ 21 วัน เราถึงจะจำหน่ายให้เกษตรกร โดยลูกกุ้งก้ามกราม MU1 แตกต่างจากสายพันธุ์ปกติค่อนข้างชัดเจน ตั้งแต่ใช้สายพันธุ์ MU1 มา ยังไม่เคยเจอชุดไหนที่ไม่คว่ำ หรือมีอาการของโรคหลังขาวเลย นอกจากนี้ เรายังพบว่า ลูกกุ้งก้ามกราม MU1 โตกว่าสายพันธุ์ปกติประมาณร้อยละ 30 โดยในบ่อชำมีตัวเลขที่ชัดเจนว่า ในอัตราการชำที่ 1 แสนตัวต่อไร่เท่ากัน ในขณะที่สายพันธุ์ปกติใช้เวลาถึง 60 วัน แต่ MU1 ใช้เวลาเพียง 55 วันก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว

ในส่วนของปะการังฟาร์ม จ.ฉะเชิงเทรา คุณณัฐพล ขวัญจันทร์ ผู้จัดการฝ่ายผลิต กล่าวว่า ลูกกุ้งก้ามกราม MU1 เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนามาโดยมีลักษณะจุดเด่น คือ ปลอดโรค โตเร็ว และมีสัดส่วนเปอร์เซ็นต์เพศผู้ค่อนข้างสูง ซึ่งจากการสอบถามเกษตรกรพบว่าได้ตัวผู้ถึงประมาณร้อยละ 80 - 90 โดยลูกค้าที่ร่วมใช้ลูกกุ้งก้ามกรามสายพันธุ์ MU1 พร้อมกับเราตั้งแต่เริ่มโครงการ จนในปัจจุบันก็ยังมีการสั่งอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีการขยายผลไปยังกลุ่มผู้เลี้ยงรอบข้างอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

"เป็นที่ทราบกันดีว่า มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันวิชาการที่มีนโยบายมุ่งเน้นในเรื่องของสุขภาวะมาโดยตลอด ซึ่งจากการใช้ชีววิธีในการผลิตกุ้งก้ามกราม MU1 สามารถการันตีถึงผลผลิตที่ได้ว่า ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคอย่างแน่นอน" ดร.สุพัตรา ตรีรัตน์ตระกูล กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม