เลขาธิการฯ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นหน่วยราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยี ให้มีคุณภาพและมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ โดยร่วมกับบริษัท ออโรร่า ดีไซน์ จำกัด หรือที่รู้จักในนาม "ห้างเพชรทองออโรร่า" ซึ่งดำเนินกิจการค้าปลีก ทองรูปพรรณ เครื่องประดับเพชร การรับขายฝากสินค้าทองรูปพรรณที่ดำเนินธุรกิจด้านทองคำรูปพรรณ เครื่องประดับเพชร และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ในการพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษา เพื่อร่วมมือด้านการจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคี หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประเภทวิชาบริหารธุรกิจ วิชาศิลปกรรม และปริญญาตรี สาขาวิชาการตลาด รวมถึงสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
การลงนามครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดการอาชีวศึกษา เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา ในสาขาวิชาที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่นักศึกษาระบบทวิภาคี และฝึกประสบการณ์ด้านทักษะวิชาชีพ จากการปฏิบัติงานจริงกับบริษัทหรือสาขาของบริษัท เป็นการเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่นอกเหนือจากในตำราหรือในห้องเรียน และส่งเสริมให้ผู้สำเร็จการศึกษามีความรู้ ความสามารถ สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท และมีตำแหน่งงานรองรับ โดยมี 11 วิทยาลัยในสังกัด สอศ.ที่เข้าร่วมโครงการ ดังนี้ สถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน วิทยาลัยพณิชยการบางนา วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพ วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง วิทยาลัยเทคนิคธัญบุรี วิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี วิทยาลัยพณิชยการอินทราชัย วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี และวิทยาลัยการอาชีพกาญจนาภิเษกหนองจอก
นายอนิวรรต ศรีรุ่งธรรม กรรมการบริษัท กล่าวว่า บริษัท ออโรร่า ร่วมกับสถานศึกษาในสังกัด สอศ. จะจัดทำแผนการเรียนการสอน และแผนการฝึกอาชีพของนักศึกษา หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประเภทวิชาบริหารธุรกิจ วิชาศิลปกรรม และปริญญาตรี สาขาวิชาการตลาด รวมถึงสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท โดยจัดโปรแกรมการเรียนการสอนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี โดยให้ความรู้ การฝึกอบรม และฝึกทักษะอาชีพในด้านที่เกี่ยวข้อง ให้กับนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งจัดทำแผนการเรียนการสอน ตลอดจนแผนการฝึกอาชีพ การวัดและประเมินผลการฝึก และจัดโปรแกรมการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ฝึกงาน ต่อเนื่องตลอดปีการศึกษา บริษัทจะรับนักศึกษา ระดับปวส. ในสาขาวิขาที่เกี่ยวข้อง ที่มีความสมัครใจเข้าฝึกงานที่บริษัทอย่างต่อเนื่องตลอดปีการศึกษา โดยสามารถนำผลการทำงานมาคิดเป็นผลการเรียนภาคปฏิบัติหรือชั่วโมงฝึกงานได้ และจัดโปรแกรมทำงานพิเศษช่วงปิดภาคเรียนให้นักศึกษาด้วย
นายณรงค์ กล่าวปิดท้ายว่า "ความร่วมมือในการผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพในครั้งนี้ เป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ในสาขาวิชาค้าปลีก การตลาด และสาขาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท และส่งผลให้นักศึกษามีสมรรถนะอาชีพตรงตามความต้องการของสถานประกอบการและมีอาชีพที่มั่นคง"