สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน 2560 นางเพ็ญจันทร์ ยงวงศ์ไพบูลย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและรองกรรมการผู้จัดการของ AMC ได้รู้ข้อมูลจากการปฏิบัติหน้าที่ว่า งบการเงินไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ของ AMC จะแสดงผลขาดทุนจำนวน 90.40 ล้านบาท นางเพ็ญจันทร์ จึงได้ใช้ข้อมูลดังกล่าวซึ่งถือเป็นข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อราคาหลักทรัพย์ สั่งขายหุ้น AMC ที่อยู่ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายพิชิต เพื่อนของสามี ในช่วงระหว่างวันที่ 14 – 26 กรกฎาคม 2560 จำนวน 1,000,000 หุ้น ก่อนที่งบการเงินดังกล่าวจะเปิดเผยต่อสาธารณชนในวันที่ 11 สิงหาคม 2560 จึงทำให้นางเพ็ญจันทร์ หลีกเลี่ยงผลขาดทุนจากราคาหุ้น AMC ที่ลดต่ำลงได้
การกระทำของ นางเพ็ญจันทร์ เป็นการซื้อขายหลักทรัพย์โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามมาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 243(1) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ* รวมทั้งใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลอื่นในการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 297 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ดังกล่าว
สำหรับ นายพิชิต เป็นการกระทำการด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่นางเพ็ญจันทร์กระทำความผิดตามที่บัญญัติในมาตรา 242(1) อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 315 ประกอบ มาตรา 242(1) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ และเป็นการยินยอมให้นางเพ็ญจันทร์ใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อปกปิดตัวตน เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ อันเป็นการฝ่าฝืนและมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 297 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ดังกล่าว
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้ ก.ล.ต. นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับ นางเพ็ญจันทร์และนายพิชิต โดยให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง ส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด และชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดให้แก่ ก.ล.ต. รวมเป็นเงิน 2,140,037.50 บาท และ 621,967.50 บาท ตามลำดับ และกำหนดระยะเวลาห้ามนางเพ็ญจันทร์และนายพิชิตเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 14 เดือน และ 9 เดือน ตามลำดับ
ทั้งนี้ การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์จะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง หากผู้กระทำความผิดทั้ง 2 รายไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้ชำระค่าปรับทางแพ่งตามอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนด ส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด และชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดให้แก่ ก.ล.ต. รวมทั้งขอให้ศาลแพ่งกำหนดระยะเวลาห้ามซื้อขายหลักทรัพย์หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นเวลา 5 ปี และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 2 เท่าของระยะเวลาที่ ค.ม.พ. กำหนด นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
หมายเหตุ* พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559