เช้าวันนี้ สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทยสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทยสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทยสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยและตัวแทนกลุ่มผู้ปลูกข้าวโพดหวาน ประชุมหารือสรุปผลกระทบจากการแบนสามสารเคมีทางการเกษตรร่วมกัน ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ โดยมีการนำข้อมูลผลกระทบจากสมาคมอื่นๆ อีกร่วม 10 สมาคมมาหารือด้วย ภายหลังจากการประชุมสรุปได้ว่าการแบนสามสารเคมี มีผลกระทบในหลายภาคส่วนคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.715ล้านล้านบาท กระทบต่อภาคแรงงาน 12 ล้านคน นอกจากนั้นผู้บริโภคต้องจ่ายเงินซื้ออาหารแพงขึ้น
ดร.อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรและที่ปรึกษาสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ควรมีการทบทวนการมีมติให้ยกเลิกการใช้สารทั้งสามชนิดที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายประชุมกันเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงมติในเรื่องเดียวกันกับที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายคณะเดียวกันนี้เคยมีมติมาก่อน เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 โดยไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานใหม่มาพิจารณาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงมติแต่ประการใด ถือเป็นการใช้ดุลยพินิจให้มีมติโดยมิชอบนอกจากนั้นในการพิจารณาให้มีมติในวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ก็มิได้พิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแต่ประการใด ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นโดยตรงกับเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิด รวมถึงผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศทั้งการนำเข้าและส่งออก จึงขอเรียกร้องให้มีการทบทวนโดยด่วนที่สุด
ดร.ชัยฤกษ์ สงวนทรัพยากร นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย กล่าวว่าประเทศไทยมีการผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อใช้ในประเทศและส่งออกคิดเป็นมูลค่าประมาณ 15,000ล้านบาท ยอมรับว่าประเทศไทยมีความจำเป็นจะต้องใช้สารเคมีสามตัวนี้ในการบริหารจัดการแปลง หากเกษตรกรไม่สามารถใช้สารเหล่านี้ได้ รัฐบาลต้องหาสารที่ทดแทนที่เหมาะสมทั้งในเชิงประสิทธิภาพและต้นทุน ซึ่งจะส่งผลไปยังการทำเกษตรอื่นๆ ด้วยเนื่องจากจะไม่มีเมล็ดพันธุ์ใช้
ดร.กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอันดับที่ 5 และส่งออกน้ำตาลอันดับที่ 2 ของโลก ด้วยพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 11 ล้านไร่ ผลผลิตอ้อยรวมประมาณ 134 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ การแบนสารเคมีเกษตร คาดการณ์ผลผลิตจะลดลง 20%-50% หากไม่ใช้สารพาราควอตในช่วงอ้อยย่างปล้อง จะทำให้อ้อยหายไปถึง 67 ล้านตันต่อปี เกษตรกรสูญเสียรายได้ไปกว่า 5.0 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังส่วนใบและยอด ซึ่งใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวล จะสูญหายไป 11 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 7.4 พันล้านบาท รวมเกษตรกรสูญเสียรายได้ 5.8 หมื่นล้านบาท รวมทั้ง ส่งผลกระทบอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งเอทานอล โรงไฟฟ้าชีวมวล สูญเสียทั้งสิ้น 9.2 หมื่นล้านบาท สะเทือนมูลค่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลโดยรวมทั้งหมด 3 แสนล้านบาท ทำให้เกษตรกร 1.2 ล้านคน และโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 57 โรงงาน อาจถึงขั้นเลิกทำอาชีพการเกษตร และเลิกการจ้างงานในที่สุด
นายภมร ศรีประเสริฐ อุปนายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่าการแบนสามสารจะกระทบกับอุตสหากรรมมันสำปะหลังเป็นมูลค่า 58,000 ล้านบาท ที่ผ่านมาไทยส่งออกมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด และเป็นที่ยอมรับจากประเทศคู่ค้าไม่เคยพบปัญหาสารตกค้าง จึงมองว่ารัฐควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจทำอะไร เร็วๆนี้ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้นำภาคธุรกิจมันสำปะหลังไปทำข้อตกลงเปิดตลาดส่งออกซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ตอนนี้กังวลว่าจะผลิตมันสำปะหลังส่งออกให้กับตลาดเหล่านี้ได้อย่างไร มันสำปะหลังมีความจำเป็นต้องใช้สารกำจัดศัตรูพืช ยังมองไม่เห็นว่ามีเทคโนโลยีหรือสารใดที่จะมาทดแทนได้ และมีการใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบในอาหารสัตว์ หากต้นทุนสูงขึ้นจะเป็นการเปิดโอกาส และสนับสนุนการนำเข้าวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำกว่าเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร และอุตสาหกรรมมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง
นายทนงศักดิ์ ไทยจงรักษ์ กลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ไทยส่งออกข้าวโพดหวานเป็นอันดับหนึ่งของโลก มูลค่าประมาณ 6.6 พันล้านบาท พื้นที่กว่า 7 แสนไร่ ผลผลิต 8 แสนตัน ส่งออกไปต่างประเทศ 5 แสนกว่าตัน ปัจจุบันประสบปัญหาการกีดกันทางภาษี และการค้าในกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากปัญหาศัตรูพืชและภัยแล้งธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีการแบนสารกำจัดศัตรูพืชจะส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1 บาท ทำให้ภาคอุตสาหกรรมเสียหายรวมมูลค่า 8 พันล้านบาท ส่วนภัยแล้ง ภาครัฐต้องช่วยวางแผนระบบชลประทาน เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถปลูกในพื้นที่ระบบชลประทานเข้าถึงได้ ที่ดินมีราคาสูง จึงต้องเพาะปลูกในพื้นที่ห่างไกล
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยเปิดเผยว่า รัฐบาลต้องเร่งให้คำตอบแก่ภาคธุรกิจเพื่อป้องกันความสับสนที่จะเกิดขึ้นนอกจากผลกระทบที่เกิดโดยตรงกับเกษตรกร และผู้ครอบครองสารเคมีแล้วยังมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องทางการเกษตรและอุตสาหกรรมที่ต้องนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่มีการใช้สารเคมี 3 ตัวนี้อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งผลกระทบอาจจะมากเกิดกว่าจะคณานับ สำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาใช้ในการผลิตเกินกว่าครึ่ง โดยเฉพาะสินค้าถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองซึ่งถือว่าเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของการผลิต ประเทศที่นำเข้าหลัก 3 ประเทศยังคงมีการใช้ไกลโฟเซตในการจัดการแปลง และจากการหารือกับประเทศเหล่านี้พบว่าไม่สามารถส่งสินค้าให้กับประเทศไทยได้หากมีการกำหนดค่าสารตกค้างเป็นศูนย์ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะกระทบไล่ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ มายังโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ต่อเนื่องไปยังเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ และโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์ จนท้ายที่สุดไปถึงอาหารต่างๆที่ส่งขายภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 8 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังไม่รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดกับอุตสาหกรรมน้ำมันพืช บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือขนมปังที่รับประทานอยู่กันในทุกวันนี้หากไม่สามารถนำเข้า ถั่วเหลืองและข้าวสาลีได้ ทางออกหนึ่งของปัญหาคือการกำหนดค่าตกค้าง MRLตามมาตรฐาน CODEXซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะพิจารณาในเรื่องนี้ โดยเร่งด่วนก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2562
สรุปข้อเสนอทางออกเพื่อป้องกันผลกระทบรุนแรงจากการประชุมร่วมกันของผู้ได้รับผลกระทบ
1) ชะลอการบังคับใช้การยกเลิกสารทั้ง 3ชนิดออกไปอีกอย่างน้อย 2ปี
2) ในระหว่างการชะลอการบังคับใช้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย (GAP)และการป้องกันดูแลสุขภาพเกษตรกรและผู้บริโภค ควรมีการดำเนินการดังนี้
2.1) ควบคุมจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3ชนิดตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และส่งเสริมการทำเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP)
2.2) ศึกษาทบทวนหลักฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการยกเลิกการใช้อย่างละเอียดรอบคอบ พร้อมทั้งศึกษาและพิสูจน์ประสิทธิภาพและต้นทุนของสารหรือวิธีการทดแทน และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ให้ชัดเจน พร้อมทั้งให้การอบรมเกษตรกรอย่างทั่วถึง
2.3) ดำเนินการหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนให้ครบถ้วนและทั่วถึงในวงกว้าง
2.4) เผยแพร่ผลการศึกษาและหารือในข้อ 2.2) และ2.3) ให้เกษตรกรและประชาชนรับทราบโดยละเอียด เพื่อให้เป็นที่เข้าใจและร่วมมือปฏิบัติ