อาจารย์วรวุฒิ ในฐานะประธานโครงการ กล่าวว่า โครงการบริการวิชาการการออกแบบผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Product) เพื่อการพัฒนาด้านการตลาด บริการและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ครั้งที่ 1 มีแนวคิดให้นักศึกษาร่วมกันออกแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ผ่านกระบวนการ Upcycle เพื่อให้ตอบสนองการใช้งานในแต่ละประเภทโดยใช้ศาสตร์ด้านการตลาดวิเคราะห์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ผสมผสานแนวทางการออกแบบทางสถาปัตยกรรมเพื่อเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่ยังคงความสวยงามควบคู่กับไอเดียที่สร้างสรรค์ โดยให้กลุ่มนักศึกษาลงพื้นที่บริเวณชายหาดราชมงคล อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เพื่อร่วมกันเก็บขยะบริเวณชายหาดร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในวันทำความสะอาดโลก (World Cleanup Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา นำขยะที่เก็บได้จากชายหาด มาผ่านกระบวนการออกแบบสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (Upcycle) ที่สามารถใช้งานได้หลายหลายรูปแบบ
อาจารย์วรวุฒิกล่าวเพิ่มเติมว่า หัวใจหลักของการทำงานในครั้งนี้ นอกจากจะต้องการให้นักศึกษาต่างสาขาได้มีการบูรณาการการเรียนการสอน (Integrate Curriculum) แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างศาสตร์การตลาดและสถาปัตยกรรมแล้ว ยังต้องการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดควนวิเศษมูลนิธิที่เป็นเยาวชนของสังคมในการสร้างวัฒนธรรมการนำกลับมาใช้ใหม่ ผ่านกระบวนการ Upcycle ดังเช่นการเปลี่ยนขยะไร้ค่าจากชายหาดให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์สีเขียวที่มีมูลค่าที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงตรงตามความต้องการ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ธรรมชาติ สงวนรักษาสภาพแวดล้อมทั้งในปัจจุบันและอนาคตให้คงอยู่ได้อย่างยั่งยืน.