นางสาววิชญา สุนทรศารทูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานบริหาร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บร่วมกับโครงการ แยก แลก ยิ้ม จาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้การสนับสนุนโครงการประกวดจัดงานอย่างไร ลดการใช้พลาสติก "Say No To Plastic" ซึ่งจัดขึ้น ณ จังหวัดขอนแก่น ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการจัดงานไมซ์ หรือ ธุรกิจการจัดประชุมสัมมนา การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และงานแสดงสินค้า ให้เกิดความยั่งยืนในทุกมิติ และกระจายการจัดงานออกไปยังเมืองหลักทั่วทุกภูมิภาค ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของระบบนิเวศไมซ์ (MICE Ecosystem) ลดความเหลื่อมล้ำ และนำประเทศสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน ตามนโยบายรัฐบาล
"ทีเส็บมุ่งมั่นพัฒนาการจัดงานอย่างยั่งยืน และร่วมผลักดันเมืองไมซ์ซิตี้สู่การเป็นเมืองแห่งไมซ์ที่ยั่งยืน โดยเริ่มต้นจากเมืองไมซ์หลักทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพ พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ และขอนแก่น ซึ่งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทีเส็บประกาศความร่วมมือพัฒนา 5 เมืองไมซ์ใน 4 มิติ คือ การพัฒนาศักยภาพ องค์ความรู้ จัดอบรม ส่งเสริมข้อมูล การประชาสัมพันธ์ เผยแพร่สถานที่หรือผู้จัดงาน การสนับสนุนงาน ผลักดันการจัดงานอย่างยั่งยืน (Sustainable Events) และผลักดันสถานที่จัดงานให้ได้มาตรฐานความยั่งยืน ตลอดจนการติดตามประเมินผล ส่งเสริมการวัดผลการแสดงความยั่งยืนจากธุรกิจไมซ์ที่จับต้องได้
การสนับสนุนโครงการจัดงานอย่างไร ลดการใช้พลาสติก "Say No To Plastic" ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น และโครงการ แยก แลก ยิ้ม จาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงเป็นการสนับสนุนการจัดงานอย่างยั่งยืน ที่ร่วมกับจังหวัดขอนแก่นเพื่อรณรงค์แคมเปญแรกที่ 5 เมืองไมซ์ซิตี้ จะผลักดันร่วมกันในปีนี้ คือ "Zero Plastic Events" โดยกำหนดเป้าหมายร่วมกันทั้ง 5 จังหวัด เพื่อลดจำนวนขวดพลาสติกที่ใช้ในการประชุมใน 5 เมืองไมซ์ซิตี้ ซึ่งมีปริมาณสูงถึง 17,345,674 ขวด ให้ลดลง 50% เหลือ 8,672,837 ขวด ภายใน 1 ปี
ขอนแก่น เป็นเมืองไมซ์ซิตี้หลักและเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยล่าสุดในปี พ.ศ. 2562 มีจำนวนนักเดินทางธุรกิจไมซ์หรือนักเดินทางในประเทศที่เข้าร่วมงานธุรกิจที่เกิดขึ้นในจังหวัดขอนแก่นถึง 2,045,693 คน และในปีนี้จะร่วมกันรณรงค์ลดการใช้พลาสติกในพื้นที่และสถานที่จัดงาน ทั้งในห้องประชุม การจัดเลี้ยง อุปกรณ์และบรรจุภัณฑ์ สนับสนุนการจัดอาหารและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการใช้พลาสติกและลดค่าใช้จ่ายจากการจัดงานภายในปี พ.ศ. 2563 ไม่ต่ำกว่า 50 % ในจังหวัด
ปัจจุบันสังคมโลกตื่นตัวและให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างสูง การมีส่วนร่วมของชุมชนและการสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ผ่านแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน นำมาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่รัฐบาลและประชาชนมีความกระตือรือร้น และให้ความสำคัญกับการจัดงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ทีเส็บในฐานะหน่วยงานรัฐหลักที่ส่งเสริมการจัดงานอย่างยั่งยืน ได้นำเสนอกรอบแนวทางการจัดงานอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปปฏิบัติใช้สนับสนุนการจัดงานประชุมอาเซียนที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพตลอดทั้งปีนี้จำนวนกว่า 180 การประชุม ตอบสนองแนวคิดหลักของรัฐบาลในการเป็นประธานอาเซียน คือ "ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน" รวมถึงภาคเอกชน บริษัทชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์ต่างให้ความสำคัญและเป็นข้อผูกมัดที่จะดำเนินการจัดงานอย่างยั่งยืนร่วมกัน
ด้านนายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า โครงการประกวดจัดงานอย่างไร ลดการใช้พลาสติก "Say No to Plastic" นับเป็นโครงการแรกภายใต้การประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันซึ่งจะเป็นประโยชน์และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล รวมถึงนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของจังหวัด ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งมีคณะทำงานด้านการขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart Environment) โดยมีบทบาทหน้าที่ เช่น ส่งเสริมให้ครัวเรือนมีการคัดแยกขยะ การกำจัดขยะต้นทาง และการจัดการมลภาวะ โดยใช้เทคโนโลยีระบบ IOT หรือ Internet of Things ในการบริหารจัดการ พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในทุกมิติ ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในจังหวัด
"ภายใต้การผนึกความร่วมมือระหว่าง ทีเส็บ ร่วมกับ โครงการแยกแลกยิ้ม จาก ปตท. พร้อมพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนเครือข่ายการศึกษา ภาคเอกชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผมเชื่อมั่นว่าโครงการประกวดจัดงานอย่างไร ลดการใช้พลาสติก "Say No to Plastic" จะเป็นเวทีสำคัญ ที่นอกจากชาวขอนแก่นจะได้รู้จักกับการจัดงานประชุมสัมมนา และการลดการใช้พลาสติกแล้ว ยังได้เรียนรู้เรื่องการจัดงานอย่างยั่งยืน ความรู้เรื่องการแยกขยะ การดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมผ่านการใช้วัสดุท้องถิ่นเพื่อทดแทนการใช้พลาสติกมากขึ้นอีกด้วย ช่วยต่อยอดสร้างรายได้ให้ชุมชนนำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ให้เป็นปัจจัยหลักในการจัดงาน ส่งผลให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชน และสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย" นายสมศักดิ์ กล่าวสรุป
โครงการประกวดจัดงานอย่างไร ลดการใช้พลาสติก "Say No To Plastic" มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ลดการใช้พลาสติกในการจัดงาน ผ่านการให้ความรู้เรื่องการจัดงานอย่างยั่งยืนเพื่ออนุรักษ์พลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างความเข้าใจเรื่องการลดการใช้และการสร้างขยะพลาสติกในกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย นักเรียน นักศึกษา เจ้าของกิจการ นักธุรกิจ หน่วยงาน ผู้ประกอบธุรกิจจัดงาน และองค์กรต่างๆ ตลอดจนการจัดประกวดผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อทดแทนการใช้พลาสติกในการจัดประชุมสัมมนาโดยใช้วัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น
โครงการฯ เปิดรับสมัครผู้ส่งผลงานจากทั่วประเทศเข้าประกวดระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม – 8 พฤศจิกายน 2562 เพื่อชิงรางวัลร่วม 100,000 บาท โดยมีผู้ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศจำนวน 10 ทีมจาก 7 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ 1) ทีม Number One จ.นครปฐม 2) กลุ่มชุมชนผลิตภัณฑ์กระจูด บ้านห้วยลึก จ.สุราษฎร์ธานี 3) ทีมเคหะเปเปอร์ จ.ขอนแก่น 4) กลุ่มวิถีลาวบ้านสะนำ จ.อุทัยธานี 5) ทีมกราฟิก R ตานี จ.ปัตตานี 6) ทีมลำพูนสร้างสรรค์ จ.ลำพูน 7) ทีมเดื่ออุดมกก จ.หนองคาย 8) ทีม 3.2.1 จ.ขอนแก่น 9) ทีมหัวถนนใส่ใจสิ่งแวดล้อม จ.ขอนแก่น และ 10) ทีม PA61 จ.ขอนแก่น โดยหลักเกณฑ์ในการตัดสินจะพิจารณาจาก 4 องค์ประกอบ ได้แก่ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การนำไปใช้ประโยชน์ ความสวยงาม ความละเอียดประณีต และความน่าสนใจของการนำเสนอ โดยงานประกาศรางวัลชิงชนะเลิศ โครงการประกวดจัดงานอย่างไร ลดการใช้พลาสติก "Say No To Plastic" จัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ณ ลานกิจกรรมศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า จังหวัดขอนแก่น