นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr.Komsorn Prakobphol, Head of Economic Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) เปิดเผยว่า การค้นพบการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัวในช่วงไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมา และทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก แซงหน้าซาอุดิอาระเบีย และรัสเซียไปในปีที่แล้ว ซึ่งการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ Shale Oil จากสหรัฐฯ ส่งผลกดดันให้กลุ่มประเทศโอเปก (OPEC) ร่วมกับผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อื่นๆ เช่น รัสเซีย และเม็กซิโก ซึ่งรวมตัวกันในนามโอเปคพลัส (OPEC+) ต้องตัดสินใจร่วมกันลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบรวม 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะอุปทานล้นตลาด และประคองราคาน้ำมัน (WTI) ให้กลับมายืนเหนือระดับ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลได้ในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ OPEC จะประสบความสำเร็จในการประคองราคาน้ำมันในช่วงปีที่ผ่านมา แต่การเติบโตของ Shale Oil ในสหรัฐฯ ก็ยังไม่มีท่าทีจะหยุดลง โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ 12.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ณ ต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา และ OPEC ยังคาดว่าการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องอีก 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2563 ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศผู้ผลิตน้ำมันขนาดใหญ่นอกกลุ่ม OPEC ยังมีแผนเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันจากแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ที่เพิ่งค้นพบ เช่น แหล่ง Buzios และแหล่ง Lula ในบราซิล และแหล่ง Johan Sverdrup ในนอร์เวย์ ซึ่งทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันของทั้งสองประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกรวม 5 แสนบาร์เรลต่อวัน และเมื่อรวมกับการเติบโตของสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2563
"ขณะที่อุปสงค์กลับชะลอตัวลงตามแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ถูกกระทบจากสงครามการค้าที่กดดันภาคการผลิตให้หดตัวทั่วโลก โดยคาดการณ์ของ OPEC ชี้ว่าความต้องการน้ำมันดิบของโลกจะเติบโตเพียง 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2563 ปริมาณการผลิตที่เติบโตเร็วกว่าความต้องการใช้น้ำมันดิบถึงหนึ่งเท่าตัว นั้นทำให้กลุ่ม OPEC ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องลดปริมาณการผลิตลงเพิ่มอีก เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะอุปทานล้นตลาดในปีหน้า" นายคมศรกล่าว
แต่ความขัดแย้งภายในกลุ่ม OPEC ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นอาจเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุข้อตกลงลดปริมาณการผลิต โดยสมาชิกที่มีอิทธิพลมากที่สุดอย่างซาอุดิอาระเบีย ต้องการลดการผลิตลงอีกเพื่อพยุงราคาน้ำมันให้สูง และดันราคาหุ้นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ Saudi Aramco ซึ่งจะขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ในช่วงปลายปีนี้ ในขณะที่ประเทศสมาชิกอื่นๆ ซึ่งประสบปัญหาฐานะการคลังย่ำแย่ เนื่องจากรายได้จากการขายน้ำมันลดลง บางส่วนไม่เห็นด้วยที่จะลดปริมาณการผลิตลงมากกว่านี้ โดยตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดได้แก่ประเทศเอกวาดอร์ ซึ่งเตรียมประกาศถอนตัวจากการเป็นสมาชิก OPEC ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 นี้ เนื่องจากต้องการที่จะเพิ่มการผลิตน้ำมันเพื่อหารายได้เข้าประเทศ
ดังนั้น ท่ามกลางความขัดแย้งในกลุ่ม OPEC ที่เริ่มมีสัญญาณรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบฐานะการเงินที่ย่ำแย่ของประเทศสมาชิก ทำให้การประชุม OPEC ครั้งถัดไปในวันที่ 5 ธ.ค. 2562 นั้นมีความเสี่ยงสูงที่สมาชิกจะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงลดปริมาณการผลิตได้สำเร็จ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ตลาดน้ำมันโลกก็จะเข้าสู่ภาวะอุปทานล้นตลาด (Oversupplied) ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันดิบ WTI อาจกลับไปเคลื่อนไหวต่ำกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอีกครั้งในปี 2563