เมื่อถามถึง นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยที่ไม่เคยทำอะไรเพื่อธุรกิจของครอบครัวตัวเอง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 46.0 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองลงมาคือ ร้อยละ 29.9 ระบุ อดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร ร้อยละ 13.9 ระบุ นายชวน หลีกภัย ร้อยละ 5.2 ระบุ นายบรรหาร ศิลปอาชา และ ร้อยละ 5.0 ระบุคนอื่น ๆ เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ นายควง อภัยวงศ์ เป็นต้น
ที่น่าสนใจคือ ผลเปรียบเทียบภาพลักษณ์ที่ประชาชนจำได้ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ อดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร พบหลายประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ด้านความเรียบง่าย เป็นกันเอง พล.อ.ประยุทธ์ฯ ได้ร้อยละ 60.3 ในขณะที่ ดร.ทักษิณฯ ได้ร้อยละ 52.8 ด้านการเปิดงาน พิธีต่าง ๆ พล.อ.ประยุทธ์ฯ ได้ร้อยละ 77.2 ดร.ทักษิณฯ ได้ร้อยละ 50.8 ด้านยิ้มเก่ง พล.อ.ประยุทธ์ฯ ได้ร้อยละ 38.0 ดร.ทักษิณฯ ได้ร้อยละ 47.4 ด้านมีคนรัก ขอถ่ายรูปด้วย พล.อ.ประยุทธ์ฯ ได้ร้อยละ 28.9 ดร.ทักษิณฯ ได้ร้อยละ 36.9 ด้านลงพื้นที่ช่วยคนเดือดร้อน พล.อ.ประยุทธ์ฯ ได้ร้อยละ 36.7 ดร.ทักษิณฯ ได้ร้อยละ 55.2
นอกจากนี้ ด้านมีผลงานยั่งยืน ผลสำรวจพบว่า สูสีกันมาก โดย พล.อ.ประยุทธ์ฯ ได้ร้อยละ 50.5 ดร.ทักษิณฯ ได้ร้อยละ 48.1 อย่างไรก็ตาม ด้านคดีความต่าง ๆ พล.อ.ประยุทธ์ฯ ได้ร้อยละ 21.2 ในขณะที่ ดร.ทักษิณฯ ได้ร้อยละ 40.9
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กล่าวด้วยว่า ผลการสำรวจ "เสียงประชาชนในโลกโซเชียล" (Social Media Voice) ผ่านระบบ Net Super Poll พบว่า พล.อ.ประยุทธ์ฯ กำลังเข้าถึงคนทั้งหมดประมาณ27,477,598 คน หรือ ยี่สิบเจ็ดล้านคนเศษ ซึ่งมากกว่าจำนวนคนที่ ดร.ทักษิณฯ กำลังเข้าถึงคนในโลกโซเชียลจำนวน 7,843,158 คน หรือ เจ็ดล้านกว่าคน
อย่างไรก็ตาม ที่น่าพิจารณาคือ คนในโลกโซเชียลจากหลากหลายประเทศกำลังให้ความสำคัญกับบุคคลทั้งสองแต่ยังคงพบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีจำนวนคนจากประเทศต่าง ๆ ที่กำลังเกาะติด พล.อ.ประยุทธ์ฯ มากกว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร แต่มีคำพูดที่แสดงถึงภาพลักษณ์ของบุคคลทั้งสองแตกต่างกัน คือ พล.อ.ประยุทธ์ฯ จะมีคนพูดถึงตำแหน่ง อำนาจบริหาร เอาเรื่องเอาราว ลงโทษเอาผิดคนอื่น เปิดงาน ร่วมกิจพิธีการต่าง ๆ มากกว่า แต่ถ้าเป็นคำพูดที่พูดแล้วดูดี มีผลทางจิตใจให้เกิดความรัก ความศรัทธาของคนในโลกโซเชียลเพราะช่วยเหลือคน จะพบว่า อดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณฯ จะถูกพูดถึงมากกว่า
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นช่องทางอะไรบางอย่างว่า มีความเป็นไปได้ที่จะก้าวผ่านอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตรไปได้อย่างดีถ้าทุกฝ่ายช่วยกันบริหารจัดการอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนโดยข้อมูลชี้ให้เห็นชัดเจนแล้วว่า ภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ฯ จะอยู่กับเรื่องของตำแหน่ง อำนาจ การเปิดงานและพิธีการต่าง ๆ ที่เรื่องเหล่านี้ต้องทำให้เป็นช่องทางเข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริงมากกว่าเป็นเพียงพิธีกรรมที่ "วันเปิดคือวันปิด" และประชาชนจะไม่ได้อะไร ควรเกาะติดการพูดคุยของคนในโลกโซเชียลให้เป็นระบบเพื่องานความมั่นคงเพราะอาจเป็นหัวเชื้อจุดไฟลามไปถึงคนนอกโลกโซเชียลคล้าย ๆ กับทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย แต่ครั้งนี้ไม่ใช่คนกรุงเทพฯ กับ คนต่างจังหวัด แต่จะเป็นคนในโลกโซเชียลกับคนในโลกดั้งเดิม จึงต้องป้องกันปัญหาดีกว่าตามแก้ปัญหา จะได้ไม่ต้องเหนื่อยกันทั้งประเทศ