รองศาสตราจารย์ ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากนโยบายของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จัดทำโครงการ "สูงเนินสุขภาวะโมเดล" เพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้อย่างแท้จริง โดยความร่วมมือระหว่างคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับโรงพยาบาลสูงเนิน องค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น และภาคส่วนต่างๆ ในอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ทำคลินิกส่งเสริมจิตสังคมช่วยให้คนไข้มีสุขภาพดีขึ้น เน้นการมีกำลังใจ มีเพื่อน มีเป้าหมาย และมีข้อมูลไปใช้เพื่อปรับวิถีชีวิตตนเอง เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย ส่งเสริมคนในชุมชนพึ่งพาตนเองได้ ไม่ทอดทิ้งกัน ซึ่งจะเป็นพลังบวกที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบสุขภาพระดับอำเภอ จนถึงระดับประเทศ ตามนโยบายการปฏิรูประบบสาธารณสุขของประเทศไทย
ในปีนี้คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ 51st APACPH Conference : SDGs in Reality (Asia-Pacific Academic Consortium Public Health) ทางคณะสาธารณสุขศาสตร์ จะนำเสนอผลงานความคืบหน้าของโครงการ "สูงเนินสุขภาวะโมเดล" เข้าสู่ที่ประชุมวิชาการนานาชาติในครั้งนี้ โดยมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมสุขภาพโดยให้คนในชุมชนพึ่งพากันเอง คือ วิธีการที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ เสริมพลังผู้ป่วยและคนในชุมชน ให้ได้มีการนำข้อมูลสุขภาพที่เผชิญอยู่มาตัดสินใจว่าต้องการข้อมูลอะไรบ้าง คณะสาธารณสุขศาสตร์ จะเชิญผู้เชี่ยวชาญ ที่มีความชำนาญและทักษะการสื่อสารที่เข้าใจง่าย มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทำให้ผู้ป่วยตัดสินใจได้เหมาะสมกับวิถีและเป้าหมายของตนเอง ซึ่งผลลัพธ์ของโครงการนี้สามารถทำให้คนในชุมชนมีสุขภาพดีขึ้นได้ในอัตราสูงถึงร้อยละ 65 และมีจิตอาสาทำงานร่วมกับคลินิกหมอครอบครัว โรงพยาบาลสูงเนิน ศูนย์วิจัยและพัฒนาสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล โรงเรียน โรงงาน และกลุ่มต่าง ๆ ของอำเภอ ช่วยขับเคลื่อนสู่การเป็น "ต้นแบบการพัฒนาสุขภาวะอย่างยั่งยืน"
นอกจากนี้ ในที่ประชุมวิชาการนานาชาติ ยังมีการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสุขภาพ" โดย Dr. Stefanos Fotiou, ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิกประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "จริยธรรมกับการสาธารณสุข นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร" โดยนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง เส้นทางสุขภาพ เส้นทางสายไหมทางบก (Health Road and Belt) โดย Prof. Wang Hui คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวตง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศจีน ที่สนใจมาพัฒนาศูนย์วิจัยด้านการส่งเสริมสุขภาพ ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติ 51st APACPH Conference : SDGs in Reality (Asia-Pacific Academic Consortium Public Health)เป็นความร่วมมือระหว่างภาคีสถาบันการศึกษา ด้านสาธารณสุขในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และความร่วมมือของสถาบันการศึกษา 5 แห่ง ได้แก่University of Hawaii, Mahidol University, University of Philippines, Peking Medical University, National University of Singapore จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Healthy and Green Meeting ซึ่งมีการนำเสนอผลงานสถานการณ์ของ SDGs ในปัจจุบันของประเทศต่าง ๆ จำนวน 28 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพมหานคร