"ต้องขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีและท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรค เพื่อปกป้องเกษตรกรคนเลี้ยงหมูที่มีมากถึง 200,000 ราย และเป็นการป้องกันอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูของไทยที่มีมูลค่าถึง 150,000 ล้านบาทไม่ให้ถูกกระทบ อันจะเป็นการป้องกันภาพรวมเศรษฐกิจของทั้งประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ" นายสุรชัยกล่าว
ทั้งนี้ งบดังกล่าวมีความชัดเจนโปร่งใสในการนำไปใช้ โดยแบ่งเป็นค่าชดเชยราคาสุกรที่ถูกทำลายเพื่อลดความเสี่ยงเกิดโรคในพื้นที่เสี่ยงสูง 381 ล้านบาท โดยรัฐจะจ่ายให้ 70% ของราคาสุกร เพื่อความรัดกุมในการใช้งบประมาณ นอกจากนี้ยังมีค่าจ้างเหมาในการขนส่ง ขุมหลุมฝังกลบ ทำลายซาก 19 ล้านบาท รถกำจัดซาก 198 ล้านบาท รถตักซาก 10 ล้านบาท รถขนซากสัตว์ระบบปิด 79 ล้านบาท รถพ่นยาฆ่าเชื้อ 54 ล้านบาท เวชภัณฑ์ฆ่าเชื้อ 108 ล้านบาท เครื่องตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรม 23 ล้านบาท วัสดุวิทยาศาสตร์สำหรับตรวจวินิจฉัย 10 ล้านบาท ค่าจ้างเหมาบริการช่วยงานสัตวแพทย์ 19 ล้านบาทและเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ 16 ล้านบาท ซึ่งถือว่าครอบคลุมกระบวนการป้องกันโรคในทุกขั้นตอน สร้างความมั่นใจแก่ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศเป็นอย่างมาก จากนี้ขอให้เลี้ยงหมูด้วยระบบการป้องกันโรคภายในฟาร์ม(Biosecurity)ของตนตามมาตรฐานที่กรมปศุสัตว์วางไว้ และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์อย่างเคร่งครัด
นายสุรชัย ย้ำอีกว่าโรคเอเอฟเอสเกิดในหมูเท่านั้น ไม่ติดสัตว์อื่นและไม่ติดคน ขณะที่ไทยเองยังไม่พบการระบาด ดังนั้น ผู้บริโภคสามารถรับประทานหมูปรุงสุกได้อย่างปลอดภัย 100%