รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน ผู้อำนวยการภารกิจอนาคตเชิงยุทธศาสตร์ และการริเริ่มงานวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมด้วย Prof.Dr. WANG Lin จาก Center for Monsoon system Research, Institute of Atmospheric Physics, Chinese Academy of Sciences (CAS) หรือ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เป็นประธานเปิดงานการประชุมวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ "The 7th China – Thailand Joint Conference on Climate Change" ที่จัดขึ้นโดย ศูนย์ประสานงานและพัฒนางานวิจัยด้านโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (THAI - GLOB) สกสว. ร่วมกับ มูลนิธิวิจัยวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ เอ็นเอฟเอสซี (The National Natural Science Foundation of China, NSFC) ในระหว่างวันที่ 25 - 30 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อิน รีสอร์ท จ.กระบี่ โดยมี ดร.มณทิพย์ ศรีรัตนา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจโครงการดังกล่าว เนื่องจากนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 เป็นต้นไป โครงการดังกล่าวจะดำเนินการภายใต้การบริหารของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หลังมีการปฏิรูประบบวิจัยของประเทศและ สกสว.เปลี่ยนแปลงพันธกิจการทำงาน
รศ.ดร. อำนาจ ชิดไธสง นักวิจัยจากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะผู้ประสานงานชุดโครงการศูนย์ประสานงานและพัฒนางานวิจัยด้านโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวถึง ที่มาที่ไปของการจัดประชุมครั้งนี้ว่า เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนานักวิจัยของทั้งไทยและจีนติดต่อกันเป็นครั้งที่ 7 ภายใต้บันทึกความร่วมมือระหว่าง สกว. และ NSFC ที่ดำเนินการร่วมกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 โดยจะจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี เพื่อเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนข้อค้นพบที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือด้านการวิจัย พื้นที่พบปะพูดคุยของนักวิจัยในวงการสิ่งแวดล้อม ที่สนใจศึกษาวิจัยประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือระยะต่อไป โดยการจัดงานในครั้งนี้มีคณะนักวิจัยจากประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าร่วมกว่า 60 คน
พันธกิจสำคัญตลอดระยะเวลาความร่วมมือกว่า 11 ปีที่ผ่านมา มีเป้าหมายสูงสุดในการยกระดับนักวิจัยและงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยสู่ระดับสากล สร้างความร่วมมือด้านการวิจัยที่ประเทศไทยไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านงานวิจัยของไทยมากขึ้น
"เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว รัฐบาลลงทุนกับงานวิจัยโดยใช้งบประมาณค่อนข้างสูง จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณวิจัยเพราะเล็งเห็นว่างานวิจัยเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาประเทศ ความร่วมมือตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับเป็นข้อดีต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากนักวิจัย ในหลายต่อหลายโครงการได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยจีนอย่างต่อเนื่อง งานวิจัยในหลายๆโครงการ เป็นงานวิจัยเชิง มหภาคที่ลำพังงบประมาณและกำลังคนที่ประเทศไทยไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนงาน แต่เมื่อเรามีพาร์ทเนอร์ด้านงานวิจัยภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้เป็นจีน จึงถือเป็นการสร้างภาคีเครือข่ายด้านงานวิจัยที่ส่งผลดีต่อทั้งนักวิจัยเองและประเทศไทย โดยนักวิจัยไทยที่เข้าร่วมวิจัยภายใต้ความร่วมมือนี้ ไม่ได้มาจากฟากวิชาการอย่างเดียวเท่านั้นยังมาจากภาคนโยบายหรือผู้ปฏิบัติการเอง อาทิ นักวิจัยจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมการข้าว เพื่อให้นักวิจัยนำข้อมูลที่ได้ไปสนับสนุนการทำงานของตน" รศ.ดร. อำนาจ ชิดไธสง กล่าวเสริม