ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ สะท้อนถึงโอกาสที่อันดับเครดิตของบริษัทจะได้รับการปรับลดอันดับ เนื่องจากโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนันสนุนแก่ BAM น่าจะปรับตัวลดลงหลังจากการขายหุ้นต่อประชาชน (IPO) ตามแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัท กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ซึ่งเป็นหน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทย) อาจจะลดการถือหุ้นใน BAM ลงไปต่ำกว่า 50% จากเดิม 99.99% หลังจาก IPO ซึ่งระดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับภาครัฐและระดับการควบคุมกำกับอาจจะปรับตัวลดลงเช่นกัน
อันดับเครดิตภายในประเทศของ BAM มีปัจจัยในการพิจารณามาจากการสนับสนุนจากภาครัฐ BAM ก่อตั้งขึ้นในปี 2541 เพื่อบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2540 อย่างไรก็ตามบทบาทในเชิงนโยบายของ BAM ได้ทยอยปรับตัวลดลงเนื่องจากภาคการเงินของประเทศไทยได้ฟื้นตัวจากภาวะวิกฤติดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้แผนการลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐดังกล่าว ยังเป็นปัจจัยที่บ่งชี้ว่าภาครัฐไม่ได้มอง BAM ในฐานะองค์กรหลักของรัฐในระยะยาว อย่างไรก็ตาม BAM ยังคงมีบทบาทที่สำคัญในฐานะที่เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและมีผลกำไรที่สม่ำเสมอ อีกทั้งที่ผ่านมา BAM ได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนจากภาครัฐ ผ่านสิทธิประโยชน์ในด้านกฎเกณฑ์ เช่น การให้ตราสารหนี้ของบริษัทสามารถนับเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ได้และการได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีส่วนช่วยสนับสนุนความสามารถในการระดมเงินกู้ยืมและผลประกอบการของบริษัท
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BAM อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัท เนื่องจากหุ้นกู้ประเภทดังกล่าวเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของบริษัท
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ฟิทช์คาดว่าจะยกเลิกเครดิตพินิจ หลังจากที่การเสนอขายหุ้นฯ เสร็จสมบูรณ์และฟิทช์ได้ทำการทบทวน (re-assessment) ระดับของโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ BAM รวมทั้งประเมินฐานะทางเครดิตของตัวบริษัทเอง (stand-alone credit profile) เสร็จสิ้นลง
อันดับเครดิตภายในประเทศของ BAM น่าจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดยระดับของผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตของ BAM จะขึ้นอยู่กับระดับความสัมพันธ์ของ BAM กับภาครัฐและสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐ แม้ว่าสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐอาจปรับลดลงไปต่ำกว่า 50% แต่ฟิทช์อาจจะพิจารณาว่ายังมีโอกาสที่บริษัทจะได้รับการสนับสนุนพิเศษที่นอกเหนือจากการดำเนินงานปรกติ (extraordinary support) จากภาครัฐ หากบริษัทยังคงได้รับประโยชน์จากการที่ภาครัฐยังคงมีอำนาจควบคุม และ/หรือ บริษัทยังคงมีความสำคัญในเชิงนโยบายต่อภาครัฐ ซึ่งในกรณีดังกล่าวจะส่งผลให้อันดับเครดิตของบริษัทอยู่ในระดับที่สูงขึ้นกว่าอันดับเครดิตที่พิจาณาจากความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวบริษัทเอง (Stand-alone) ทั้งนี้ฟิทช์น่าจะทำการพิจารณาอันดับเครดิตของ BAM จากความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวบริษัทเอง หากสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐลดลงไปต่ำกว่า 50% ระดับความสัมพันธ์กับภาครัฐอยู่ในระดับจำกัด และการสนับสนุนพิเศษที่นอกเหนือจากการดำเนินงานปรกติจากภาครัฐอาจไม่สามารถพึ่งพาได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าวอาจจะส่งผลให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BAM ถูกปรับลดอันดับลงไปอยู่ในช่วงอันดับเครดิตในกลุ่ม 'BBB(tha)' (rating category) หรืออาจจะปรับลดลงไปต่ำกว่าระดับดังกล่าวได้ ในกรณีที่การยกเลิกสิทธิประโยชน์ในด้านกฎเกณฑ์มีผลกระทบในเชิงลบต่ออัตรากำไรและต้นทุนทางการเงินในระดับที่มีนัยสำคัญต่อความมีเสถียรภาพของรูปแบบในการดำเนินธุรกิจของบริษัท (business model)
การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BAM น่าจะส่งผลกระทบในทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตของหุ้นกู้
รายละเอียดทั้งหมดของอันดับเครดิตมีดังต่อไปนี้:
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AA-(tha)'; ให้ "เครดิตพินิจเป็นลบ"
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ 'F1+(tha)' ; ให้ "เครดิตพินิจเป็นลบ"
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันที่ 'AA-(tha)' ; ให้ "เครดิตพินิจเป็นลบ"