นายวศินกล่าวว่า ผมในฐานะตัวแทนของบริษัทรู้สึกภาคภูมิใจกับรางวัลอันทรงเกียรติที่ได้รับจากงาน SET Awards 2019 โดยในปีนี้ บลจ.กสิกรไทย สามารถคว้ารางวัล Best Asset Management Company มาครองได้สำเร็จต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 (ปี 2561-2562) นับเป็นการตอกย้ำความสำเร็จการเป็นผู้นำตลาดกองทุนรวม อีกทั้งยังเป็นการการันตีคุณภาพและมาตรฐานการทำงานของทีมงานทุกคนที่มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า รวมถึงรักษาผลการดำเนินงานของกองทุนให้อยู่ในระดับที่ดีอย่างสม่ำเสมอ โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา บลจ.กสิกรไทย ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์กองทุนใหม่ๆ เป็นทางเลือกในยามที่สภาวะตลาดมีความผันผวนสูง ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ลงทุนเป็นอย่างดี อาทิ กองทุน K-FIT ที่เน้นกระจายลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ ปรับสัดส่วนได้ตามสภาวะตลาด และคาดหวังผลตอบแทนได้ตามความเสี่ยง กองทุน K-CHANGE ที่เน้นลงทุนในหุ้นบริษัททั่วโลกที่ดำเนินธุรกิจมุ่งสร้างผลเชิงบวกต่อสังคม ช่วยให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา คุณภาพชีวิต และการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส รวมถึงกองทุน K-HIT ที่ใช้วิธีการลงทุนแบบ Thematic Investing เน้นกระจายการลงทุนในธีมธุรกิจที่สอดคล้องกับ Megatrends ของโลก โดยจะพิจารณานำธีมธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ธีมธุรกิจเดิม เมื่อธีมธุรกิจเดิมเริ่มเติบโตค่อนข้างจำกัด และมีความน่าสนใจลดลง เป็นต้น
"บลจ.กสิกรไทย ยังได้มีการพัฒนาช่องทางดิจิตอล โดยเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆให้กับแอปพลิเคชัน K-My Funds เวอร์ชั่นล่าสุดที่สามารถเปิดบัญชีกองทุนออนไลน์ผ่าน K-My Funds ได้สะดวก รวดเร็ว
และปลอดภัย พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนทุกคนได้เริ่มต้นก้าวแรกสู่การลงทุนกับกองทุน K-SET50 ด้วยเงินเพียง 1 บาท ก็สามารถเป็นเจ้าของหุ้นไทยระดับท็อป 50 ตัวได้ นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำจากผู้จัดการกองทุนผ่าน Smart Notification แจ้งเตือนข่าวสารการลงทุน เพื่อให้ผู้ลงทุนปรับพอร์ตได้อย่างเหมาะสม" นายวศินกล่าว
การได้รับรางวัล Best Asset Management Company ต่อเนื่องกัน 2 ปีซ้อนนับเป็นบทพิสูจน์ถึงศักยภาพของบลจ.กสิกรไทย ในฐานะที่เป็นบลจ.ชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งจะต้องรักษาคุณภาพ
และมาตรฐานการบริหารจัดการกองทุนให้ดีที่สุดเพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุน รวมถึงการมีส่วนช่วยยกระดับธุรกิจกองทุนรวมของไทยให้มีคุณภาพเทียบเท่ากับในระดับสากลได้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การมอบรางวัลดังกล่าว จะพิจารณาจากผลการดำเนินงานของกองทุนประเภทต่างๆ ทั้งกองทุนหุ้น กองทุนตราสารหนี้ และกองทุนผสม โดยนำมาคำนวณหาผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุนแต่ละประเภท ซึ่งจะต้องเอาชนะค่าเฉลี่ยโดยรวมเมื่อเทียบกับความเสี่ยงของกองทุนแต่ละประเภท นอกจากนี้ยังพิจารณาจากจำนวนกองทุนที่มีความหลากหลาย ความสามารถในการบริหารจัดการ รวมถึงความโปร่งใสจากการปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือข้อบังคับต่างๆที่กำหนดไว้อย่างเหมาะสม