เปิดเสวนาวิชาการ “ดิจิทัลศึกษากับอนาคตสังคมไทย” ทำงานร่วมกันเพื่อความเท่าทันและเท่าเทียม

จันทร์ ๐๒ ธันวาคม ๒๐๑๙ ๑๔:๐๐
โครงการจัดตั้งกลุ่มวิจัยด้านสื่อดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับโครงการอินเทอร์เน็ตศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) จัดงานเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ "ดิจิทัลศึกษากับอนาคตสังคมไทย" โดยเหล่าคณะอาจารย์มากความสามารถจากต่างมหาวิทยาลัยของไทย

วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ชั้น 4 อาคารสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โครงการจัดตั้งกลุ่มวิจัยด้านสื่อดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับโครงการอินเทอร์เน็ตศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) จัดงานเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ "ดิจิทัลศึกษากับอนาคตสังคมไทย" เพื่อเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ โดยได้รับความสนับสนุนจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากพหุสาขาวิชา ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รองศาสตราจารย์ ดร.ธนพงษ์ โพธิปิติ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รองศาสตราจารย์ ดร.เรณู สุขารมณ์ ผู้อำนวยการภารกิจการจัดการโครงการอินเทอร์เน็ตศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวถึงที่มาของวงเสวนาครั้งนี้ว่า "ดิจิทัลมาเร็วและแรงมาก อีกทั้งมีผลกระทบทั้งบวกและลบต่อสังคมในแทบทุกด้านเลยก็ว่าได้ ทั้งวัฒนธรรม เศรษฐกิจ หรือวงการวิจัยเอง ซึ่งทางเราเองก็ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวและมีการเฝ้าสังเกตการณ์กันอยู่ การเปิดพื้นที่สนทนาครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีให้ผู้ที่สนใจเรื่องดิจิทัลศึกษาแต่ละศาสตร์มาร่วมแลกเปลี่ยนพรหมแดนความรู้ทางด้านดิจิทัลศึกษาในสาขาของตน และได้แชร์ประสบการณ์กัน"

ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "ในมุมมองของทางนิเทศศาสตร์ และสังคมศึกษา แต่ก่อนเรามองอินเตอร์เน็ทเป็นเพียงสื่อช่องทางหนึ่งในการส่งสาร แต่ปัจจุบันอินเตอร์เน็ทได้ให้อำนาจในการควบคุมเนื้อหาที่ผู้ใช้มีปฏิสัมพันธ์ด้วยในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จากเดิมผู้ส่งสารหรือนักวิชาชีพสื่อจะมีบทบาทควบคุมตรงนี้ แต่ในปัจจุบันนักวิชาชีพสื่อแทบไม่มีบทบาทเลย สังเกตได้จากการอ่านหรือเล่าข่าวที่แต่ละรายการต้องวิ่งเข้าหาเนื้อหาจาก fb หรือ YouTube"

"ตัวนักนิเทศศาสตร์เองจำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจถึงคุณลักษณะของเทคโนโลยีของอินเตอร์เน็ท เนื่องจากมันเป็นเครือข่าย ไม่ใช่เครื่องมือหรือเครื่องจักร จึงมีความต่างจากเทคโนโลยีอื่นๆ คือ ไม่มี Closure หรือไม่มีแบบแผนโดยสมบูรณ์ มันเปลี่ยนและมีการประยุกต์ใช้เพิ่มเติมตลอดเวลา แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจถึงปัจจัยเชิงสถาบัน และการควบคุมผ่านองค์กรต่างๆ ที่มีอำนาจต่อรองเครือข่ายเนื้อหาที่แพร่กระจายและแลกเปลี่ยนกันบนอินเตอร์เน็ท ตลอดจนกิจกรรมของผู้ใช้ในภาคส่วนต่างๆ รวมถึงต้องมีความร่วมมือกับผู้รู้ในศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับตัวให้ตอบสนองและรับใช้สังคมได้อย่างเหมาะสมต่อไป"

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า "ในฐานะผู้สร้างหรือผู้ออกแบบ เรามองดิจิทัล อินเตอร์เน็ต ในแง่ของเรื่องเทคนิคทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดมากกว่า เจตนาส่วนใหญ่ของการสร้างมักตอบสนองการใช้งานในเชิงสร้างสรรค์ แต่ปัจจุบันเมื่อมีการนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ผิดวัตถุประสงค์มากขึ้นโดยเฉพาะการนำมาทำ ข่าวปลอม (Fake news) ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของโลกอินเทอร์เน็ต เราเองก็หันมาให้พิจารณาในประเด็นจริยธรรม ความเป็นกลาง อคติ หรือความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ โดยให้ความสนใจเรื่องเหล่านี้มากขึ้น"

ทางด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นในวงเสวนาว่า "วันนี้คำว่าดิจิทัลศึกษามันยังคลุมเครือ เนื่องจากความเข้าใจแต่ละฝ่ายยังไม่ชัดเจน แต่หลายคนจะมองในมุมของการเป็น Digital media ถ้ามองรูปแบบนั้น ในเชิงรัฐศาสตร์ สื่อจะมีจุดมุ่งหมายในการนำไปใช้ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ก่อนสื่ออาจเป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างประเทศ แต่ปัจจุบันสื่อสมัยใหม่ถูกนำมาใช้ในเชิงการทำสงครามหาเสียงหรือการใช้ประโยชน์ในเชิงการเมืองให้ฝ่ายตัวเอง ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนจากการเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุด เนื่องจากการเข้าถึงสื่อออนไลน์ในของประชาชนช่องทางต่างๆ มีมากขึ้นและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น"

จากวงเสวนาครั้งนี้ผู้ร่วมเสวนาหลายท่านยังแสดงความเป็นห่วงถึงสิทธิ์ความเป็นส่วนตัวของประชาชนที่ใช้งานบนโลกอินเตอร์เน็ท เนื่องจากปัจจุบันตัวบทกฎหมายหลายฉบับยังคงไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงวิจารณญาณในการใช้งานหรือทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์อย่างรู้เท่าทัน นอกจากนี้ การเปิดพื้นที่เสวนาในครั้งนี้ทำให้มองเห็นภาพประเด็นการศึกษาและแนวโน้มความสนใจของแต่ละสาขาวิชาต่อดิจิทัลศึกษากับสังคมไทยในอนาคต นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความเป็นไปได้และแนวทางพัฒนาความร่วมมือสู่การจัดตั้งเครือข่ายวิจัยระดับชาติด้านดิจิทัลศึกษาต่อไปอีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๔๗ เอ. เจ. พลาสท์ คว้า 2 รางวัลใหญ่ จาก SET Awards 2024 และได้รับการประเมิน CGR ดีเลิศ ระดับ 5 ดาว
๑๖:๑๓ เปิดมาตรการ พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ช่วยเหลือ SMEs ถูกน้ำท่วมในงาน มันนี่ เอ็กซ์โป 2024 เชียงใหม่
๑๖:๓๙ หน้าหนาวมาเยือน! กรมอนามัยเตือนดูแลสุขภาพให้พร้อม เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย
๑๖:๕๗ เปิดรันเวย์อวดผลงานไอเดียสร้างสรรค์ของ 5 ผู้ชนะรางวัลทุนการศึกษา จากโครงการ Jaspal Group Scholarship Program
๑๖:๐๘ กิฟฟารีน แนะนำไอเทมเด็ด กิฟฟารีน เอช เอ็ม บี พลัส วิตามินดี 3 สำหรับช่วยดูแลมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
๑๕:๐๑ ไขข้อสงสัย สินเชื่อรถแลกเงินคืออะไร
๑๕:๓๘ ซื้อมอเตอร์ไซค์ ออกรถใหม่ มีขั้นตอนอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง
๑๕:๐๕ ยางขอบ 17 ยี่ห้อไหนดีที่ขับขี่สนุก และยังคงนุ่มสบาย
๑๔:๕๖ heygoody คว้าแชมป์จากเวที Thailand Influencer Awards 2024 ตอกย้ำความเข้าใจลูกค้า Introvert
๑๔:๐๓ เมืองไทยประกันชีวิต คว้า 4 รางวัลใหญ่ระดับสากล ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และเป็นองค์กรสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการ