แรงกระเพื่อมสำคัญจากการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลยังคงเป็นแนวโน้มหลักทั่วทั้งภูมิภาคซึ่งส่งผลให้ความต้องการของผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงระดับผู้จัดการที่มีทักษะแบบผสมผสาน ในขณะเดียวกัน บุคลากรที่มีความเข้าใจในบริบทระดับโลกและมีความรู้ความชำนาญในระดับประเทศ จะกลายเป็นที่ต้องการเนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและโลกธุรกิจที่ไร้พรมแดน
การเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลมาพร้อมกับข้อบังคับและกฎระเบียบซึ่งส่งผลต่อความต้องการของผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยงและการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ในขณะที่ปี 2562 ทั่วภูมิภาคยังคงมีสัญญาณการเติบโตของภาคการผลิต ซึ่งส่งผลต่อความต้องการของบุคลากรในด้านต่างๆ ตั้งแต่ซัพพลายเชน จัดซื้อ ขนส่ง วิศวกร การเงิน รวมไปถึงทรัพยากรบุคคล ในประเทศไทยเองการเติบโตทางเศรษฐกิจยังได้รับปัจจัยหนุนจากหลายด้านรวมทั้งการพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) อีกด้วย
แนวโน้มสำคัญที่เด่นชัดออกมาในปี 2563 คือ มุมมองที่เปิดกว้างมากขึ้นของผู้ว่าจ้างต่อผู้สมัครงาน ซึ่งจะมีการพิจารณาจากศักยภาพผู้สมัคร การเปิดรับทักษะที่สามารถถ่ายโอนได้มากกว่าการยึดติดที่ประสบการณ์ตรงแต่เพียงอย่างเดียว
จุดเด่นประเทศไทย
ภาพรวมของธุรกิจและเศรษฐกิจประเทศไทยยังคงมีความแข็งแกร่ง ควบคู่ไปกับการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มุ่งเน้นไปที่กลยุทธ์ mobile-first หรือการที่ผู้บริโภคในยุคนี้เริ่มมีการติดต่อสื่อสารกันผ่านโทรศัพท์มือถือที่ไม่ใช่การพูดคุยกันธรรมดา แต่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ต่าง ๆ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยังคงเน้นไปที่การบริหารโดยผู้นำที่แข็งแรงและบุคลากรที่สรรค์สร้างนวัตกรรมแห่งการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นเสมือนแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและการเติบโตของการส่งออก ทำให้สัญญาณของว่าจ้างงานในปี 2563 ยังคงแข็งแกร่งและยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ตลาดแรงงานไทยเผชิญอยู่ก็คือความต้องการด้านบุคลากรมีมากกว่าจำนวนผู้สมัครซึ่งสร้างแรงกดดันให้กับผู้ว่าจ้างที่จะสามารถตอบสนองความคาดหวังโบนัสประจำปี 15% รวมไปถึงการได้รับการโปรโมทและมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีอีกด้วย
นางสาวปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา ผู้จัดการโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำประเทศไทย ได้ชี้ให้เห็นว่านายจ้างต้องเร่งปรับตัวเพื่อดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถ "เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารบริษัทในประเทศไทยจะเข้าใจรายละเอียดและข้อมูลสำคัญจากผลสำรวจเงินเดือนประจำปี 2563 จากโรเบิร์ต วอลเทอร์ส รวมไปถึงสิ่งที่พนักงานคาดหวัง ปัจจัยที่ทำให้พวกเขาเปลี่ยนงานและองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อบทบาทหน้าที่ของเขา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่กุญแจสำคัญของการว่าจ้างงาน แต่ยังช่วยให้การบริหารจัดการพนักงานเกิดความยั่งยืน"
ข้อมูลแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้จากผลสำรวจเงินเดือนประจำปี 2563 ของโรเบิร์ต วอลเทอร์ส มีดังนี้
- บัญชีและการเงิน : ทักษะการบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Management) ทักษะทางด้านโปรแกรมที่ช่วยจัดการสายงานทุกสายงานของธุรกิจให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ (SAP/ system implementation) ยังมีความต้องการสูง ในขณะที่ร้อยละ 49 ของบุคลากรในสายงานนี้คาดว่าจะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนที่ประมาณ 7-15% ในส่วนของบุคลากรที่มีการย้ายงานจะได้รับเงินเดือนปรับขึ้นเฉลี่ย 15-25% ในปัจจุบันร้อยละ 21 ของพนักงานในสายงานนี้มีอายุงานเฉลี่ยน้อยกว่า 2 ปี
- การบริการทางการเงินและการธนาคาร: ตำแหน่งที่เป็นที่ต้องการอย่างมาก คือ ผู้จัดการสัมพันธ์ฝ่ายการลงทุนต่างประเทศ (International Investment Relationship Managers) ที่ปรึกษาด้านการวางแผนทางการเงิน (Private Bankers)และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารความเสี่ยงและการปฏิบัติตามกฏระเบียบ (Risk & Compliance Experts) ซึ่ง ร้อยละ 30 ของพนักงานในสายงานนี้มีอายุงานเฉลี่ยน้อยกว่า 2 ปี สำหรับผู้ที่มีการย้ายงาน คาดว่าจะได้รับเงินเดือนเฉลี่ยที่ปรับขึ้นประมาณ 20-25%
- วิศวกรรมและการผลิต: ตำแหน่งงานยอดนิยม ได้แก่ ผู้บริหารฝ่ายควบคุมคุณภาพ วิศวกรรมโครงการและปรับปรุงคุณภาพ ซึ่งแรงจูงใจสำคัญในการย้ายงานคือ การได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการที่มากขึ้น สำหรับผู้ที่มีการย้ายงาน คาดว่าจะได้รับเงินเดือนเฉลี่ยที่ปรับขึ้นประมาณ 15-30%
- ทรัพยากรบุคคล: หนึ่งในสี่แรงจูงใจในการย้ายงานอันดับแรก คือ ความก้าวหน้าในอาชีพซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง ร้อยละ 36 ในขณะที่ทักษะสำคัญในสายงานที่เป็นที่ต้องการ ประกอบไปด้วยบทบาทการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ความคิดเชิงตรรกะและกลยุทธ์ รวมถึงการคิดเชิงวิเคราะห์
- กฏหมาย: ทักษะภาษาอังกฤษที่ยอดเยี่ยม ความคิดเชิงพาณิชย์และความเชี่ยวชาญรอบด้าน เป็นทักษะสำคัญในสายงาน ซึ่งร้อยละ 61 ของบุคลากรที่ย้ายงานให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการเป็นอันดับแรก ในขณะเดียวกันร้อยละ 56 คาดว่าจะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนที่ประมาณ 7-15% ในขณะที่พนักงานร้อยละ 27 คาดหวังว่าจะได้รับการขึ้นเงินเดือนประมาณ 15% ขึ้นไป
- ฝ่ายขายและการตลาด: เป็นสายงานที่มีอัตราการลาออกสูง ซึ่งร้อยละ 36 ของพนักงานมีอายุงานน้อยกว่า 2 ปี ร้อยละ 34 ของพนักงานให้ปัจจัยความก้าวหน้าในอาชีพเป็นแรงจูงใจหลักในการเปลี่ยนงาน มีการคาดการ์ณว่าการปรับขึ้นของเงินเดือนพนักงานที่ย้ายงานใหม่จะอยู่ระหว่าง 15-30% ทักษะยอดนิยมที่เป็นที่ต้องการในสายงานนี้ ประกอบไปด้วย การขายระดับภูมิภาค การบริหารฐานลูกค้าและผู้จัดการฝ่ายการตลาดดิจิทัล
- ซัพพลายเชนและจัดซื้อ: ร้อยละ 62 ของพนักงานจะได้รับเงินเดือนปรับขึ้นเฉลี่ย 7-15% ซึ่งปัจจัยสำคัญในการย้ายงาน ประกอบไปด้วยความก้าวหน้าในอาชีพ (ร้อยละ 29) ตามด้วยความต้องการค่าตอบแทนและสวัสดิการที่สูงขึ้น (ร้อยละ 20) รวมถึงโอกาสในการทำงานในต่างประเทศ ตำแหน่งงานยอดนิยม คือ การจัดซื้อจัดจ้าง การวางแผนด้านซัพพลายเชน การบริหารการขนส่ง
- เทคโนโลยีและการเปลี่ยนผ่าน: ความก้าวหน้าทางอาชีพ ค่าตอบแทนและสวัสดิการ (ร้อยละ 27) เป็นปัจจัยสำคัญในการย้ายงาน ในขณะที่ร้อยละ 10 ได้ความสำคัญกับัจจัยด้านวัฒนธรรมองค์กร ร้อยละ 32 ของพนักงานในสายงานนี้มีอายุงานเฉลี่ยน้อยกว่า 2 ปี ตำแหน่งงานยอดนิยม คือ นักพัฒนาโมบายล์แอปพลิเคชั่น(full stack / mobile developers) นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data scientists) และวิศวกรด้าน UI/UX
ติดตามข้อมูลข่าวสารอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.robertwalters.co.th/