ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่ารู้สึกดีใจที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) มีความก้าวหน้าอย่างมากในช่วงเวลา 20 ปี ที่ผ่านมา หลังจากได้รับทราบความสำเร็จของนักเรียนอาชีวะในวันนี้แล้ว ทำให้มองเห็นอนาคตของประเทศไทยด้านการศึกษา ซึ่งจะสามารถก้าวไปสู่ยุค 4.0 ได้อย่างเต็มตัว โดยรัฐบาลพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอาชีวะอย่างเต็มที่ ซึ่งรัฐบาลมุ่งหวังและฝากความหวังไว้ว่าเราจะเพิ่มผู้เรียนอาชีวะให้ได้มากที่สุดและมีคุณภาพ สูงสุด โดยอยากเห็นการเพิ่มจำนวนนักเรียนอาชีวะอย่างก้าวกระโดด ควบคู่ไปกับให้นักเรียนเป็นคนที่เรียนดี พร้อมกับสร้างให้มีจิตสาธารณะ สามารถแก้ปัญหาชุมชนและสังคมได้ด้วย
"ทั้งนี้ เราต้องการพลังจากทุกภาคส่วนช่วยกันสนับสนุนส่งเสริมให้นักเรียนเกิดความมั่นใจ ก้าวทันเทคโนโลยี มีคุณภาพตรงกับความต้องการตลาด สามารถนำพาประเทศไปสู่ทศวรรษที่ 21ได้" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวปิดท้าย
ด้านนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า บริษัท อมตะมาทำนิคมอุตสาหกรรมมา 30 กว่าปีแล้ว มีโรงงานกว่า 1,300 แห่ง ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องบุคลากร ซึ่งในอนาคตมีความต้องการบุคลากรประมาณ 1 ล้านคน โดยผมเชื่อมั่นว่า นักเรียนวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) จะไม่ตกงาน ผมอยากให้ผู้ผลิตกับผู้บริโภคมาพบกัน โดยการจัดให้มี Management Club เพื่อให้ทราบความต้องการว่าต้องการคนแบบไหน วิชาไหน คุณภาพแบบไหน เพื่อให้การเดินทางไปสู่อนาคตเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
สำหรับวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์(ชลบุรี) ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนตามโครงการวิทยาลัยฐานวิทยาศาสตร์ ที่มีหลักสูตรครอบคลุมการเรียนวิชาทั้งสายสามัญและสายอาชีพ เพื่อรองรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ (talented children) ทางการประดิษฐ์คิดค้นและพัฒนาเชิงเทคโนโลยี โดยส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ กระบวนการเรียนรู้และความสนใจที่จะพัฒนาตนเองไปสู่การเป็น "นักเทคโนโลยี " ในอนาคต ภายใต้การเรียนการสอนแบบ Project-Based learning ที่มุ่งเน้นสร้างทักษะในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อีกทั้งยังมีการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ต่อเนื่อง 5 ปี) ตามมาตรฐานโคเซ็น ซึ่งเป็นหลักสูตรตามความร่วมมือกับ National Institute of Technology (สถาบัน KOSEN) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อรองรับการสร้างนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ให้กับภาคการผลิตและบริการต่อไปในอนาคต