นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา ได้บรรยายสรุปแผนการจัดสรรน้ำของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ในฤดูแล้งปี 2563 ว่าปัจจุบันเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีปริมาณน้ำ 155 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 58% ของความจุเขื่อน ซึ่งได้เรียงลำดับความสำคัญการใช้น้ำจากการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศน์/การท่องเที่ยว การเกษตร และอุตสาหกรรมตามลำดับ โดย 35 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับส่งน้ำในพื้นที่โครงการแม่แฝก-แม่งัด (เพื่อการอุปโภค และการเกษตร) 70 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับพื้นที่ตลอดลำน้ำปิงจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน 30 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับเตรียมแปลงตกกล้าฤดูฝนปี 62 และอีก 20 ล้านลูกบาศก์เมตรคือการระเหย รั่วซึมและความจุที่ไม่ได้ใช้งาน การจัดสรรน้ำให้กับพื้นที่ลุมน้ำปิงตอนบนเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล โครงการชลประทานเชียงใหม่ โครงการชลประทานลำพูนและส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 1 เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำปิงตอนบนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จากการวิเคราะห์แผนการปลูกพืชฤดูแล้งและการอุปโภคบริโภคเห็นว่ามีความต้องการใช้น้ำรวมทุกกิจกรรม 166 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นสำนักงานชลประทานที่ 1 จึงได้พิจารณาจัดสรรน้ำจากน้ำต้นทุนจำนวน 2 แหล่ง คือเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จำนวน 70 ล้านลูกบาศก์เมตร และลำน้ำสาขาของแม่น้ำปิงอีก 96 ล้านลูกบาศก์เมตร รวม 166 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะเพียงพอสำหรับฤดูแล้งปี 2563
สำนักงานชลประทานที่ 1 มีการวางแผนส่งน้ำรอบแรกวันที่ 9 มกราคม 2563 จนถึง 1 กรกฎาคม 2563 จำนวน 25 รอบเวร ปริมาณการใช้น้ำ 80 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีหลักการส่งน้ำดังนี้ 1) วันเสาร์และวันอาทิตย์ งดการใช้น้ำ เพื่อส่งน้ำไปถึงพื้นที่ด้านท้ายน้ำ ยกเว้นเพื่อการอุโภค-บริโภคและประปาสามารถสูบได้ทุกวัน 2) วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ เวลา 09.00-18.00 น. จะเปิดน้ำใช้พร้อมกัน ยกเว้นฝายแม่ปิงเก่า จะเปิดใช้ วันจันทร์ เวลา 09.00 น. ถึง วันพฤหัสบดี เวลา 09.00 น. รวม 3 วัน เนื่องจากคลองส่งน้ำมีขนาดกว้างและยาว จึงต้องลดระยะเวลาการส่งน้ำโดยส่งน้ำในอัตราการไหลสูง เพื่อให้น้ำไหลถึงปลายคลองได้
ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 1 ต้องขอความร่วมมือจากกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน ในการปฏิบัติตามแผนการจัดสรรน้ำและมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เป็นผู้กำกับดูแล ควบคุมการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำปากคลองส่งน้ำในแต่ละจุด รวมถึงได้มีการเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว 10 นิ้ว และ 12 นิ้ว จำนวน 75 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ จำนวน 4 คัน ทั้งจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย ในช่วงท้ายได้มีการตอบข้อซักถามให้กับเกษตรกรและผู้แทนกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อให้การจัดทำแผนการส่งน้ำในปีต่อๆไป เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมายสูงสุด