สำหรับต้นทุนการผลิตของเกษตรกร เฉลี่ยอยู่ที่ 12 บาท/กก. ลดลงจากปีที่ผ่านมาเฉลี่ย 5 บาท/กก. (ปี 61/62 ต้นทุนเฉลี่ย 17 บาท/กก.) ส่วนราคาที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา (ราคา ณ 20 พฤศจิกายน 2562) หอมแดงสด ที่ยังไม่มีการตาก ราคาเฉลี่ย 18 บาท/กก. หอมปึ่ง ซึ่งเป็นหอมแดงที่เก็บเกี่ยวและแขวนตากในโรงเก็บเป็นเวลาประมาณ 12 วัน ราคาเฉลี่ย 35 บาท/กก. และหอมมัดจุกใหญ่ ราคาเฉลี่ย 55 บาท/กก. (ราคาปี 61/62 ของหอมแดงสด หอมปึ่ง และหอมมัดจุกใหญ่ อยู่ที่เฉลี่ย 12 , 20 และ 35 บาท/กก. ตามลำดับ) โดยการซื้อขายหอมแดงจะมีพ่อค้าในชุมชน พ่อค้ารายย่อย พ่อค้าเร่ มารับซื้อจากเกษตรกร ส่วนพ่อค้ารายใหญ่ในจังหวัดศรีสะเกษจะรับซื้อหอมแดงเพื่อส่งให้ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น
รองเลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้ายว่า จากราคาหอมแดงที่เพิ่มสูงขึ้นในปีนี้นับว่าเป็นโอกาสทองของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและมีเงินทุนสำรองเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกในปีถัดไป อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรรักษาผลผลิตหอมแดงให้มีคุณภาพ สำหรับเกษตรกรหรือท่านที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการผลิต สามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 จังหวัดอุบลราชธานี โทร. 045 344 654 หรืออีเมล [email protected]