เมื่อเร็วๆนี้ ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงานประชุมวิชาการนานาชาติ Thai "IOT" International Conference 2019 โดยมี รองศาสตราจารย์.ดร.ณรงค์ อยู่ถนอม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติและผู้เข้าร่วมในการประชุมวิชาการนานาชาติ Thai "IOT" International Conference ณ ห้อง Auditorium 2 อาคาร 11 มหาวิทยาลัยศรีปทุม กทม.(บางเขน) ซึ่งถือเป็นงานประชุมวิชาการนานาชาติด้าน IoT ครั้งแรกในไทย
นอกจากนี้ภายในงานยังได้มีการจัดแสดงนวัตกรรมด้าน (Internet of Things: IoT) และการ Pitching เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการ ครั้งแรกในไทย โชว์เคสงานวิจัย IoT รวมถึงการจัดการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ "5G Technology & Ecosystem" โดยคุณ Wasit Wattanasap Head of Nationwide Operation of AIS, และหัวข้อ "Introduction and Trend" By Mr.J Ke Program Director of HAX Shenzhen (U.S.A)
การจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติฯ ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง AIS - สมาคมThai IoT - DEPA และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ ได้ประเดิมด้วยการจัดงาน Thai "IoT" International Conference 2019 (TIIC 1) ถือเป็นงานประชุมวิชาการด้าน IoT ครั้งแรกของประเทศไทย ผสมผสานระหว่างการจัดการประชุมเชิงวิชาการ (Academic conference) และการหาผู้ร่วมลงทุนทางการค้า (Pitching) ซึ่งนักวิจัยที่มีผลงานทางด้าน IoT สามารถนำเสนองานเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านวิชาการ และสามารถนำผลงานไปเสนอ เพื่อหาผู้ร่วมลงทุนในธุรกิจได้ โดยผลงานที่จะนำมาเสนอในงานนี้ จะต้องมีงานวิจัยรองรับ พร้อมต่อยอดเป็นธุรกิจ หรือนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้จริง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาผลงานวิจัยขึ้นหิ้งได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก Durian Corporation Co., Ltd. โดยเพิ่มเติมส่วนของการนำเสนอผลงานในรูปแบบของ Startup และ มีนักลงทุนเข้ามาพิจารณาผลงานเพื่อร่วมลงทุน ซึ่งถือว่าเป็นมิติใหม่ของการจัดงานประชุมสัมมนาวิชาการ
สำหรับทางมหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้มีความร่วมมือกับเอไอเอสและสมาคมไทยไอโอที ในมิติที่เชื่อมโยงกับภาคการศึกษา เพื่อพัฒนาบุคคลากรให้มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี Internet of Things อย่างต่อเนื่อง การนำผลงานวิจัยเชิงวิชาการมาสร้างโอกาสและต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์และยกระดับสู่สากล ถือว่าเป็นมิติใหม่ที่น่าสนับสนุน และจะสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาผลงานวิจัยขึ้นหิ้งได้ในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการนำไปสู่การสร้างความเชื่อมโยงภาคการศึกษากับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าหากันได้อีกด้วย