ช่วงต้นหนาว อุณหภูมิลดต่ำ สภาพอากาศแปรปรวน ประมงเตือน ระวัง ! ปลาป่วย

ศุกร์ ๐๖ ธันวาคม ๒๐๑๙ ๑๕:๔๑
กรมประมง หวั่นอากาศแปรปรวนส่งผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เตือนเกษตรกรระมัดระวัง พร้อมสั่งเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำแนวทางป้องกันควบคุมโรคแก่เกษตรกร

นายบรรจง จำนงศิตธรรม รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ระยะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน มีอากาศที่หนาวเย็นลง แต่บางพื้นที่ก็ยังมีฝนตกสลับกับอากาศร้อน ทำให้อุณหภูมิของน้ำในรอบวันแตกต่างกันมาก ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณสมบัติน้ำ ผลให้คุณภาพน้ำลดต่ำลง ทั้งด้านกายภาพ ชีวภาพ และเคมีภาพ ลักษณะเช่นนี้จะมีผลกระทบต่อสุขภาพปลาเป็นอย่างมาก เนื่องจากปลาเป็นสัตว์เลือดเย็น อุณหภูมิของร่างกายเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิของน้ำ ซึ่งในการปรับตัวนี้ จำเป็นต้องนำพลังงานที่ได้จากการเผาผลาญอาหารมาใช้ ทำให้พลังงานที่จะนำไปใช้ในการเจริญเติบโตหรือสร้างระบบภูมิคุ้มกันลดน้อยลง ด้วยเหตุนี้ทำให้ปลาอ่อนแอ ป่วย และติดโรคได้ง่าย

ทั้งนี้ ในช่วงต้นหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม น้ำจะมีอุณหภูมิต่ำเป็นเหตุทำให้เชื้อโรคบางชนิดเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้ดี โดยเฉพาะโรคอียูเอส โรคตัวด่าง และโรคไวรัสเคเอชวี ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานประมงจังหวัดต่างๆ ลงพื้นที่ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรแล้ว โดยเบื้องต้น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และเป็นการควบคุมโคระบาดในช่วงฤดูหนาว ขอให้เกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมประมง ดังนี้

1. เกษตรกรควรวางแผนระยะเวลาการเลี้ยงปลาให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม หรือ ควรงดเว้นการเลี้ยงปลาในช่วงฤดูหนาว

2. ควรมีบ่อพักน้ำใช้เพื่อใช้ในฟาร์มได้เพียงพอตลอดฤดูกาล โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว

3. เลือกชนิดปลาที่จะเลี้ยงให้เหมาะสมกับฤดูกาล โดยในช่วงฤดูหนาว ควรเลือกปลาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดน้อย เช่น ปลานิล ปลาจีน และปลาไม่มีเกล็ด ที่สำคัญ ควรลดความหนาแน่นของปลาที่ปล่อยลงเลี้ยงและหมั่นเอาใจใส่ ตรวจสุขภาพปลาอย่างสม่ำเสมอ

4. ควบคุมปริมาณการให้อาหารอย่างเหมาะสม ลดปริมาณอาหารที่จะให้ลง 10 – 15 % เนื่องจากช่วงอุณหภูมิต่ำปลาจะกินอาหารได้น้อยลง ถ้าหากมีปริมาณอาหารเหลือจะสะสมตามพื้นบ่อ ส่งผลให้น้ำเน่าเสีย เกิดก๊าซพิษ และมีผลกระทบต่อสุขภาพปลา ทั้งนี้ อาจมีการเสริมวิตามินซีในอาหารตามอัตราการใช้ที่ระบุในลาก โดยน้ำหนัก จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง ต้านทานโรคและลดความเครียดของปลาได้

5. ควบคุมคุณภาพน้ำในบ่อ โดยใช้เกลือแกงมาละลายน้ำสาดให้ทั่วบ่อ ประมาณ 100-150 กิโลกรัมต่อไร่

6. หากพบว่ามีปลาที่เลี้ยงป่วยหรือมีอาการผิดปกติ ควรแยกออกไปเลี้ยงและรักษาต่างหาก กรณีป่วยหนักควรทำลายทิ้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในวงกว้าง หรือ หากพบปลาตายในบ่อเลี้ยงให้กำจัดโดยการฝังหรือเผาทั้ งนี้ หากกรณีปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติมีความผิดปกติ ให้รีบปิดทางน้ำเข้าและหยุดการเติมน้ำจากธรรมชาติเข้ามาในบ่อทันที

7. หากไม่สามารถเปลี่ยนถ่ายน้ำได้ ในช่วงระหว่างการเลี้ยง ให้ควบคุมปริมาณการให้อาหาร

8. หากพบว่าน้ำในบ่อเริ่มเน่าเสีย โดยสังเกตว่ามีก๊าซผุดขึ้นมาจากพื้นบ่อ ให้ใช้เกลือสาดบริเวณดังกล่าว ประมาณ 200 – 300 กิโลกรัมต่อบ่อขนาด 1 ไร่ เพื่อลดความเป็นพิษของก๊าซพิษ เช่น แอมโมเนีย เป็นต้น

9. เมื่ออากาศเริ่มเข้าสู่สภาวะที่เหมาะสม (อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้น) และพบว่าปลาในธรรมชาติเป็นปกติ ไม่มีอาการป่วย ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำตามความเหมาะสม และให้อาหารปลาได้ตามปกติ

ทั้งนี้ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควรหมั่นสังเกตและดูแลสัตว์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด หากพบมีปลาป่วยหรือมีอาการผิดปกติ สามารถแจ้งหรือขอรับคำปรึกษาได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัด หรือ ศูนย์วิจัยฯ สัตว์น้ำชายฝั่ง/น้ำจืด ของกรมประมงในพื้นที่นั้นๆ หรือ กองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กรุงเทพฯ โทร.0 2579 4122

โรคอียูเอส (Epizootic Ulcerative Syndrome : EUS) หรือ "โรคแผลเน่าเปื่อย" เป็นโรคที่อยู่ภายใต้ระบบการเฝ้าระวังโรคสัตว์น้ำของประเทศไทย มีสาเหตุจากเชื้อราสกุลอะฟลาโนมัยซิส (Aphanomyces invadans) โดยลักษณะอาการปลาที่ป่วย จะมีแผลเน่าเปื่อย ลึกตามตัวพบโรคนี้ได้ในปลาหลายชนิดทั้งที่อยู่ในธรรมชาติและบ่อเลี้ยง เช่น ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลาสร้อย ปลากระสูบ ปลาแรด และปลาสลิด เป็นต้น ปัจจุบันยังไม่มียาหรือสารเคมีที่จะใช้ในการรักษาโรคได้ หากสภาพอากาศและน้ำในบ่อเลี้ยงมีอุณหภูมิสูงขึ้น เชื้อราดังกล่าว จะเจริญและแพร่กระจายได้น้อยลง ในขณะเดียวกันปลาที่กำลังป่วยจะมีภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น ช่วยให้ปลาหายป่วยเองได้ในเวลาต่อมา

โรคตัวด่าง เป็นอีกโรคหนึ่งที่เกษตรกรควรเฝ้าระวัง โรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียสกุลฟลาโวแบคทีเรียม (Flavobacterium spp.) พบโรคนี้มากในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยและอุณหภูมิน้ำต่ำ มักเกิดนอกจากนี้มักเกิดขึ้นกับปลาหลังจากการย้ายบ่อ หรือการขนส่งโดยลักษณะอาการปลาที่ป่วยจะมีแผลด่างขาวตามลำตัว หากติดเชื้อรุนแรงปลาจะตายเป็นจำนวนมาก ในรยะเวลาสั้น พบโรคนี้ได้ในปลาสวยงาม ปลากะพงขาว ปลาดุก ปลาช่อน และปลาบู่ วิธีการป้องโรคที่ดี คือ ลดความหนาแน่นปลา ลดอาหาร ควบคุมคุณสมบัติน้ำให้เหมาะสม ในระหว่างการเคลื่อนย้ายหรือขนส่ง ให้ใช้เกลือแกง 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 1 ตัน (0.1 %) เพื่อช่วยลดความเครียด

โรคเคเอชวี (Koi Herpesvirus Disease : KHVD) โรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส พบในปลาตระกูลคาร์พและไน โดยลักษณะอาการปลาที่ป่วย จะรวมกลุ่มอยู่ตามผิวน้ำและขอบบ่อ ซึม ว่ายน้ำเสียการทรงตัวลำตัวมีเมือกมาก มีแผลเลือดออกตามลำตัว ในปลาที่มีอาการติดเชื้อรุนแรงจะพบอาการเงือกเน่า ปลาอ่อนแอ กินอาหารน้อยลงหรือไม่กินอาหาร ทยอยตายพบมีอัตราการตายสูงถึง 50 – 100 % โรคนี้ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้สารเคมี วิธีการป้องโรคที่ดี คือ ลดความหนาแน่นปลา ลดอาหาร ควบคุมคุณสมบัติน้ำให้เหมาะสม และรักษาตามสาเหตุแทรกซ้อนต่างๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย รา และหรือปรสิต เป็นต้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version