- พ.ย. ๒๕๖๗ ร่างผังเมืองรวม กทม. (ปรับปรุงครั้งที่ 4) บูรณาการแก้ไขปัญหาทุกด้าน
- พ.ย. ๒๕๖๗ กทม.ชี้แจงข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินโครงการสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย
- พ.ย. ๒๕๖๗ ปรับแผนเตรียมพร้อมประกาศใช้ผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่
นายสมชาย เดชากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) กทม. เปิดเผยว่า ตามที่นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวในการเสวนาเรื่อง "กรุงเทพ (มหา) นครใต้บาดาล" โดยระบุตอนหนึ่งว่า สาเหตุการทรุดตัวของแผ่นดินและน้ำทะเลท่วมกรุงเทพฯ เกิดจากปัจจัยทางธรณีวิทยาที่แผ่นดินทรุดตัวจากแผ่นดินไหว ปัจจัยจากการก่อสร้างและการสูบน้ำบาดาลก่อนมีมาตรการควบคุม รวมถึงระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น จึงต้องมีหน่วยงานหรือคณะทำงานบูรณาการฐานข้อมูลทั้งข้อมูลน้ำขึ้น-น้ำลง ข้อมูลด้านวิศวกรรมธรณีของชั้นดินแต่ละพื้นที่ การวางผังเมือง และการจัดการระบบระบายน้ำทั้งใต้ดิน-บนดิน นั้น ขณะนี้ สวพ. อยู่ระหว่างจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มุ่งส่งเสริมการพัฒนาเมืองหรือควบคุมการขยายตัวของเมืองให้อยู่ในพื้นที่ ที่เหมาะสมรวมถึงความสมดุลขององค์ประกอบเมือง เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมจากปัญหาภาวะโลกร้อน แผ่นดินทรุด และน้ำทะเลสูงขึ้น โดยจัดทำแผนผังพร้อมข้อกฎหมายเพื่อให้ประชาชน ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถปฏิบัติตามและใช้เป็นแนวทางพัฒนาโครงการเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ 1) แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท โดยส่งเสริมการพัฒนาเมืองภายในพื้นที่กรอบถนนวงแหวนถนนรัชดาภิเษกให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีความหนาแน่นสูง สอดคล้องกับระบบโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ และการเดินทาง 2) แผนผังแสดงที่โล่ง กำหนดที่โล่งประเภทต่าง ๆ ให้มีพื้นที่สีเขียว เพื่อรักษาสภาพการระบายน้ำตามธรรมชาติเพื่อป้องกันน้ำท่วม และเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมชายฝั่งทะเล 3) แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค กำหนดให้มีโครงการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ นอกจากนั้น ได้กำหนดมาตรการทางผังเมือง เพื่อส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่น่าอยู่และป้องกันอุบัติภัยจากธรรมชาติ รวมถึงรองรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน