นายเจษฏา ทวีกาญจน์ ผู้จัดการโครงกาต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF Thailand) กล่าวในการแถลงข่าวโครงการเที่ยวไทยไร้การซื้อขายงาช้างปี 2562 ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ระบุว่าในปีนี้ WWF ประเทศไทยยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อลดทอนปัญหาการซื้อ และขายผลิตภัณฑ์จากงาช้าง ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์วันชาติของประเทศจีน หรือ Golden Week ในเดือนตุลาคม ตลอดเรื่อยมาจนถึงเดือนธันวาคม โดยในปีนี้ WWF ต้องการเน้นย้ำให้กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวมีความเข้าใจในข้อบังคับทางกฎหมาย เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้และเกิดผลในการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
"การค้างาช้างผิดกฎหมายถือเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ เช่นเดียวกับการค้ายาเสพติด ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่ยังมีตลาดการค้างาช้างถูกกฎหมาย และล่าสุดรายงานจากบริษัท Globe
Scan ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยระดับโลก ยังคงพบว่ามีความต้องการซื้องาช้างในประเทศไทยจากกลุ่มนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้าใจว่า สามารถนำงาช้างออกนอกประเทศไทยได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว นักท่องเที่ยวไม่สามารถทำได้
ในปีนี้ GlobeScan ระบุว่าไทยเป็นประเทศเป้าหมายที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาและซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้างเป็นของฝากของที่ระลึก ตัวเลขเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ที่ 18% มาอยู่ที่ 27% ถือว่าการเพิ่มขึ้นนี้มีนัยยะสำคัญ
WWF ยังคงทำงานอย่างเข้มข้นเพื่อรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวทราบว่า การซื้อขายผลิตภัณฑ์จากงาช้างสวนทางกับการอนุรักษ์ เพราะทุกปี ช้างป่าแอฟริกันยังคงถูกล่าเพื่อฆ่าเอางามาแปรรูปและขายในตลาดโลก และในปี 2562 นี้มีการออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อย้ำให้เห็นถึงการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรับทราบและระมัดระวัง"
อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ พ.ศ.2562 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการเพิ่มบทลงโทษ กล่าวคือ ผู้ใดฝ่าฝืนนำเข้า หรือส่งออกซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
นายนุวรรต ลีลาพตะ ผู้อำนวยการส่วนด่านตรวจสัตว์ป่า กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 โดยมีความเข้มข้นในเรื่องของข้อบังคับใช้ทางกฎหมายทั้งโทษจำคุก และโทษปรับ ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาการซื้อขายผลิตภัณฑ์จากงาช้างในกลุ่มนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านด่านตรวจสัตว์ป่า ทั้งทางอากาศยาน และภาคพื้นดิน โดยในปี พ.ศ. 2562 นี้เป็นต้นไป กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะได้นำชิ้นงานประชาสัมพันธ์จาก WWF ประเทศไทย มาใช้เผยแพร่ในพื้นที่ต่างๆ อาทิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นต้น
ทางด้านนางสาวดวงกมล วงศ์วรจรรย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและการสื่อสารงานอนุรักษ์ WWF ประเทศไทยกล่าวว่า การจัดกิจกรรมรณรงค์เที่ยวไทยไร้การซื้อขายงาช้างปี 2562 ได้มีการจัดทำการวิจัยเชิงปริมาณในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักท่องเที่ยว ใน 5 พื้นที่หลักรอบกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เยาวราช ประตูน้ำ มาบุญครอง เอเชียทีค และหน้าบิ๊กซีราชดำริ พบว่า จากกลุ่มสำรวจนักท่องเที่ยวจีน จำนวน 214 คน มีนักท่องเที่ยวกว่า 81% ไม่คิดที่จะซื้องาช้างเป็นของฝากจากประเทศไทย ในขณะที่อีก 48% เข้าใจว่า ผลิตภัณฑ์จากงาช้างเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ในขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวอีกกว่า 51% ยังคงเข้าใจว่าหากต้องการซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้าง ประเทศไทยคือแหล่งซื้อเป้าหมายที่สามารถหาซื้อได้
"WWF จัดขบวนประชาสัมพันธ์ในพื้นที่หลักที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปในเขตกรุงเทพมหานครในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยกิจกรรมในปีนี้นอกจากจะเป็นการรณรงค์โดยนำเสนอเนื้อหาของข้อกฎหมายใหม่ที่เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว เรายังต้องการสำรวจทัศนคติและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนั้นเรายังใช้สื่อประชาสัมพันธ์ที่ออกแบบร่วมกับบริษัท Dentsu Aegis Network
ซึ่งเป็นบริษัทเอเจนซี่ระดับโลกร่วมออกแบบชิ้นงานประชาสัมพันธ์ในปีนี้ให้มีรูปแบบแปลกใหม่ สะดุดตา และเป็นที่จดจำสำหรับนักท่องเที่ยว"
ในส่วนของพันธมิตรร่วมโครงการในปีนี้ WWF ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัทการบินไทยจำกัด มหาชน และบริษัทแอลแอนด์เอช มอลล์แอนด์โฮเท็ล
สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย ร่วมสนับสนุนประชาสัมพันธ์โครงการอย่างต่อเนื่อง