นายณพวีร์ พุกกะมาน ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค จีเอ็มไอ เอดจ์ และผู้ก่อตั้ง Creative Investment Academy (CIA) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ กล่าวว่า จากการติดตามการลงทุนในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีนี้ถือเป็นขาลงมาตลอด เนื่องจากมีการทำราคาต่ำสุด(New Low)มาอย่างต่อเนื่อง ดัชนีควรจะยืนเหนือ 1,620 จุดได้ก่อนในช่วงที่เหลือของปีนี้ถึงจะยืนยันได้ว่าสิ้นสุดขาลงเพราะไม่มีการทำนิวโลว์ต่อ แต่จะขึ้นไปได้มากแค่ไหนต้องขึ้นอยู่กับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน
ดังนั้น ตอนนี้ถือว่าตลาดหุ้นไทยยังไม่น่าสนใจลงทุน เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานตอนนี้ไม่ดีนัก ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทยปรับตัวลดลงทุกไตรมาส ทำให้ค่า ForwardP/E ของ SET เดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 17.1 เท่า แพงกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาคซึ่งอยู่ที่ 14.7 เท่า
"ค่า P/E หุ้นไทยตอนนี้อยู่ในระดับเดียวกับเมื่อต้นปี แต่ดัชนีอยู่ในระดับเดียวกันแสดงว่าหุ้นไทยในเวลานี้ไม่ถูกแม้จะเห็นว่าหุ้นลงมาเยอะก็ตาม ตลาดหุ้นไทยตอนนี้ภาพรวมจึงยังไม่ใช่จังหวะที่จะเข้าลงทุน นักลงทุนควรกระจายสินทรัพย์ไปยังสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโตดีกว่า"
ดังนั้น การกระจายการลงทุนในปีหน้า สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้มาก อยากให้ลองพิจารณากระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่นๆที่ยังเป็นขาขึ้น เช่น ทองคำ จากกราฟเทคนิคตอนนี้สามารถกลับมายืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 89 วันได้แล้ว และยังมีโอกาสทำกำไรหากเป็นขาขึ้นได้ในระดับเกือบๆ 10% โดยมีเป้าหมายที่จุดสูงสุดเดิม 1,550 เหรียญ โดยปัจจัยสนับสนุนคือความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ส่วนผู้ที่ไม่สามารถรับความเสี่ยงได้สูง กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ประเภทกอง REITs ยังเป็นทางเลือกการลงทุนที่เหมาะสมในปีหน้า
อีกหนึ่งสินทรัพย์คือตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้ดัชนี S&P500 จะวิ่งสร้างจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่องแต่จะมีจังหวะให้ซื้อลงทุนได้ตลอดทั้งปีและภาพรวมบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มเทคโนโลยียังคงเติบโตได้ดี รวมถึงตลาดหุ้นฮ่องกง แม้จะมีความไม่สงบทางการเมือง แต่กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นกลุ่มเทคโนโลยีของจีนยังเติบโตได้ดี ล่าสุด Alibaba ยังเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงแล้ว
ด้านราคาน้ำมันดิบ WTI ภาพเป็นการเคลื่อนไหวแบบกรอบแคบๆ มีแนวรับอยู่ที่ 50 เหรียญต่อบาร์เรลและแนวต้านที่ 64 เหรียญ ภาพรวมระยะสั้นเริ่มมีการเก็งกำไรมากขึ้นจากกระแสของหุ้น Saudi Aramco ที่จะเข้าตลาดหุ้น ซึ่งอาจจะมีการดันราคาน้ำมันให้สูงขึ้น
ด้านนาย ปุณยวีร์ จันทรขจร นักลงทุนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนในหลากหลายตลาด กล่าวว่า ในเชิงเศรษฐกิจมหภาคคำถามใหญ่ที่สุดวันนี้คือคำถามที่ว่า ดอลล่าร์กำลังจะมีแนวโน้มหลักไปทางแข็งค่าหรืออ่อนค่า เพราะนี่คือตัวกำหนดทิศทางเศรษฐกิจทั้งโลก หากติดตามค่าเงินดอลล่าร์จะเห็นได้ชัดว่าแนวโน้มการลดลงของค่าเงิน ( de-Dollarization) หรือการหนีการใช้เงินดอลล่าร์ถือเป็นกระแสฮือฮาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งการเก็บทองคำเป็นทุนสำรองของประเทศแทนดอลล่าร์ และจีนที่กำลังจะซื้อขายน้ำมันบนเงินหยวนหรือที่เรียกว่า PetroYuan แทน PetroDollar ที่เราคุ้นเคยกันมานาน
อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายปีนี้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ (Dollar Index) กลับมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นซึ่งหมายถึงความต้องการการถือดอลล่าร์มากขึ้นและนั่นคือสิ่งที่ตรงข้ามกับข่าวที่ว่าดอลล่าร์กำลังถูกทิ้งจากทั่วโลก และมีแนวโน้มในการอ่อนค่ามหาศาล แต่ในมุมที่ชวนให้ต้องคิดก็คือ ทั้งๆที่ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา (FED) มีการอัดฉีดเงินผ่านระบบ REPO ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าเงินดอลล่าร์จะอ่อนค่า ซึ่งการอัดฉีดเงินขนาดนี้ถ้าเป็นประเทศอื่นน่าจะเจอกับภาวะอัตราเงินเฟ้อสูง (Hyperinflation) ไปแล้ว
"คำตอบที่จะคลี่คลายเรื่องราวทั้งหมดเลยอยู่ที่ว่าความต้องการดอลล่าร์จากทั่วโลกแท้จริงแล้วมีมากขนาดไหน มากขนาดที่ว่า FED อัดเงินผ่านระบบเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการรึเปล่า และนี่คือเป็นประเด็นหลักที่ต้องติดตามใกล้ชิดว่า ดอลล่าร์จะมีแนวโน้มไปทางไหน เพราะตราบใดที่ดอลล่าร์ยังเป็นสกุลเงินหลักของการค้าทั่วโลก เรายังคงต้องเล่นตามเกมของสหรัฐอยู่ดี"
เพราะฉะนั้น ตลาดหลักทรัพย์ของไทยเองก็จำเป็นต้องมองการไหลเข้ามาของเม็ดเงินจากต่างชาติเป็นหลักเช่นกัน แต่ต่อให้มีการปรับตัวลงของราคาจนส่งผลต่อดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงไปแรงๆถึงระดับ 1400-1500 ส่วนตัวมองว่าเรื่องพื้นฐานประเทศไทยยังแกร่ง เราไม่แพ้ใคร น่าจะเป็นตัวเลือกแรกๆจากนักลงทุนสถาบันทั่วโลกในกรณีที่ราคาหุ้นมีการ ปรับลดลงของราคา (discount) มากกว่านี้