สถาบันพัฒนาวิชาชีพนักวิชาชีพบัญชี วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (College of Innovative Business and Accountancy: CIBA) ร่วมกับ สถาบันเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการและบุคลากรแห่งอนาคต(DPU X) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) จัดอบรมหลักสูตร "AI For Accounting" โดยได้รับเกียรติจากดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม และดร.พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association CEO-ZTRUS และผู้อำนวยการ DPU X มธบ.เป็นวิทยากร
ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการ DPU X มธบ. และในฐานะนายกสมาคม Thailand Tech Startup Association และ CEO-ZTRUS ผู้เชี่ยวชาญด้านการนำ AI มาใช้ในระบบบัญชี เปิดเผยว่า การจัดอบรมหลักสูตร "AI For Accounting" จะเป็นการเปิดมุมมองให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจบทบาทและการทำงานของปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence) ในสายอาชีพบัญชีเพิ่มขึ้น รวมถึงแนวทางการยกระดับนักบัญชีให้อยู่เหนือ AI และยังทราบถึงผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจที่นำเทคโนโลยี AI เข้าไปใช้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ขณะนี้เทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทในหลากหลายธุรกิจ การทำงานบางอย่างของ AI อาจได้รับการออกแบบมาให้ฉลาดเกือบเทียบเท่ามนุษย์ ทำให้หลายคนหวั่นจะถูกทดแทนในสายงาน สำหรับสายงานด้านบัญชี ขณะนี้ AI ยังเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้งานแม่นยำและรวดเร็วขึ้นเท่านั้น แต่หากเป็นงานเกี่ยวกับภาพรวมองค์กร หรืองานวิเคราะห์ข้อมูล ต้องใช้เวลาอีกนานที่จะพัฒนาเทคโนโลยี AI ให้ทำงานในลักษณะดังกล่าวได้ ดังนั้นจึงอยากให้นักบัญชีมองปัญญาประดิษฐ์เป็นเพียงผู้ช่วย ที่ทำให้งานมีคุณภาพภายใต้ต้นทุนที่ต่ำลง ขณะเดียวกันนักบัญชีต้องกลับมาพัฒนาทักษะด้านต่างๆเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างคุณค่าและบทบาทใหม่ให้กับตนเอง ทั้งนี้ คุณค่าของนักบัญชีในอนาคต คือ การพัฒนาตนเองและฝึกทักษะในด้านอื่นๆ ให้กับตนเองอยู่เสมอ เพื่อเตรียมความพร้อมของบทบาทในการทำงานรูปแบบใหม่ เพราะในอนาคตนักบัญชีต้องเป็นผู้ออกแบบหรือผู้ควบคุมการทำงานของ AI เพื่อนำข้อมูลที่ถูกต้องมาวิเคราะห์ก่อนนำเสนอให้ผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร
"การอบรมครั้งนี้มีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นเจ้าของธุรกิจและตัวแทนจากแผนกบัญชีขององค์กรต่างๆ แสดงให้เห็นว่าทุกคนกำลังตระหนักถึงเทคโนโลยีที่จะเข้ามาทดแทนงานบางอย่าง จึงจำเป็นต้องเรียนรู้การทำงานเทคโนโลยีและเรียนรู้การสร้างคุณค่าให้ตนเอง เพื่อนำไปปรับใช้ในองค์กรให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ในส่วนของหลักสูตรบัญชี อนาคตอาจมีการพิจารณาปรับหลักสูตร หรือตัดเนื้อหาบางหลักสูตรออกและเปลี่ยนวิธีการนำเสนอใหม่ เพื่อให้เข้าใจถึงการนำ AI มาใช้ในระบบัญชีมากขึ้น" ดร.พณชิต กล่าว
นางสาวรัตนา ศรีนวน ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต บริบัท เอแอนด์เอ โปรเฟสชั่นนอล จำกัด ในฐานะผู้เข้าร่วมอบรม กล่าวว่า สำหรับสิ่งที่ได้เรียนรู้จากคอร์สอบรมครั้งนี้ คือ การเข้าใจบทบาทของ AI ที่จะเข้ามาทดแทนงานบางส่วนในสายบัญชี โดยเป็นงานที่ทำซ้ำๆ จำนวนมาก ซึ่ง AI จะทำได้เร็วและแม่นยำกว่ามนุษย์ แม้เทคโนโลยีที่ทันสมัยอาจทำให้ AI ฉลาดขึ้น แต่ยังเชื่อว่าความฉลาดนั้นยังไม่ถึงขั้นวิเคราะห์งานบัญชีได้ มนุษย์ยังต้องเป็นผู้วิเคราะห์หรือผู้ให้คำแนะนำปรึกษากับเจ้าของธุรกิจอยู่ดี อย่างไรก็ตาม งานบัญชีเป็นงานหนักต้องอยู่กับเอกสารกองโต หากเรานำ AI มาช่วยงานในส่วนนี้ จะเกิดประโยชน์และช่วยลดต้นทุนในการทำงานได้ ขณะเดียวกันในส่วนนักบัญชีต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาทักษะและเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนโหมดการทำงานจากนักบัญชีเป็นผู้ควบคุมหรือนำ AI มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
"การเรียนรู้เทคโนโลยีที่มีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา จะทำให้เกิดการวางแผนที่ดีและสามารถปรับตัวได้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วได้ อย่างไรก็ดี การลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีมีต้นทุนสูงอาจต้องใช้เวลานาน ผู้เรียนสายนี้จึงมีเวลาทันในการปรับตัว เพื่อพัฒนาทักษะในส่วนที่หุ่นยนต์ทำแทนไม่ได้" นางสาวรัตนา กล่าว