นายชำนาญ หวังอัครางกูร รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจอาหารสัตว์ และประธานคณะกรรมการจัดหาอย่างยั่งยืน ซีพี เวียดนาม กล่าวว่าการอบรม Capacity building for partnership เป็นไปตามนโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืนของบริษัท ซึ่งให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะและประสบการณ์ ในด้านการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก ทั้งของบริษัท และคู่ค้า
"นโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้า ของซีพีเอฟ ถูกกำหนดขึ้นเพื่อพัฒนาคู่ค้าของบริษัทให้เติบโตไปด้วยกัน บริษัทจะเติบโตได้อย่างมั่นคงจำเป็นต้องมีพันธมิตรที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม และความพร้อมที่จะรับมือต่อประเด็นความยั่งยืนในระดับโลก เช่น ประเด็นสิทธิมนุษยชน"
บริษัทได้ร่วมกับหน่วยงานแรงงานและสวัสดิการสังคม จังหวัดด่องไน่ (Dong Nai) เพื่อให้ความรู้กับคู่ค้าจำนวนกว่า 150 คน จาก 78 บริษัท ด้านการปฏิบัติต่อแรงงานตามกฎหมาย การเพิ่มความปลอดภัย สุขอนามัยในการทำงาน เพื่อช่วยยกระดับการคุ้มครองแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล พัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของบริษัทอีกด้วย
นายวรวิทย์ อรุณรักษา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของซีพี เวียดนาม เสริมว่า บริษัทมีการดำเนินการสื่อสารนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนฯ ของซีพีเอฟ 4 ด้าน ได้แก่ การส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ (Product) การปฏิบัติต่อบุคลากรอย่างเป็นธรรมตามสิทธิมนุษยชน (People) การใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Process) และมีระบบการบริหารงานอย่างโปร่งใส (Performance) ตั้งแต่ปี 2560 และในปัจจุบัน 100% ของคู่ค้าธุรกิจหลักของกิจการในประเทศเวียดนามได้รับการตรวจประเมินด้านความยั่งยืนแล้ว
ซีพี เวียดนามให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจ ควบคู่ไปกับยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร และแรงงานในห่วงโซ่คุณค่า จนเป็นที่ยอมรับของทั้งภาครัฐ และประชาชน ทำให้บริษัทได้รับรางวัลธุรกิจยั่งยืน CSI 100 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยผ่านการประเมิน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยสภาพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนแห่งชาติเวียดนาม