“เฉลิมชัย” ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา หวังช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน เพิ่มศักยภาพและความมั่นคงของน้ำ และบรรเทาอุทกภัยในเขตตัวเมืองเชียงใหม่

ศุกร์ ๒๐ ธันวาคม ๒๐๑๙ ๑๕:๓๕
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ณ บริเวณจุดก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง – แม่งัด สัญญาที่ 1 อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำปิง โดยการก่อสร้างอาคารชลประทานในลำน้ำสาขาของแม่น้ำปิง เพื่อใช้เป็นแหล่งสำรองน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภคบริโภค และสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ปิง อาทิ ฝายแม่แตงและระบบส่งน้ำ ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานกว่า 148,000 ไร่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล สามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุดประมาณ 256 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานกว่า 188,000 ไร่ เขื่อนแม่กวงอุดมธาราและระบบส่งน้ำ เก็บกักน้ำได้สูงสุดประมาณ 263 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานกว่า 175,000 ไร่ แต่เนื่องจากปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูนมีการขยายตัวของเมืองและประชากรเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้น้ำต้นทุนมีปริมาณน้อยลง คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 ให้กรมชลประทานดำเนินการโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำปริมาณน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝนของลุ่มน้ำแม่แตง ไปเก็บไว้ในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ก่อนจะส่งน้ำผ่านอุโมงค์ต่อไปยังเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อีกทั้งยังเป็นการนำน้ำส่วนเกินในฤดูฝนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อไปว่า หากดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ได้เฉลี่ยปีละประมาณ 160 ล้าน ลบ.ม. ช่วยเพิ่มศักยภาพและความมั่นคงของน้ำให้กับเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ซึ่งจะทำให้การจัดสรรน้ำให้ทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ยังจะช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ ได้ประมาณร้อยละ 70 เพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำในเขตพื้นที่ชลประทานได้กว่า 175,000 ไร่ เพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งในเขตชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธาราจาก 17,060 ไร่ เป็น 76,129 ไร่ และสามารถส่งน้ำไปช่วยพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตงได้อีกกว่า 25 ล้าน ลบ.ม./ปี เพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งของโครงการฯ แม่แตงได้อีกกว่า 14,000 ไร่ นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำปิงตอนบนได้ดียิ่งขึ้น เป็นการลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูน้ำหลาก

"โครงการประตูระบายน้ำคืบหน้าไปกว่า 50% ซึ่งจะสามารถช่วยในกาชะลอน้ำที่จะลงไปสู่แม่น้ำปิงได้ และเมื่อประตูระบายน้ำและท่อส่งน้ำแล้วเสร็จ จะสามารถนำน้ำส่วนเกินไปเขื่อนแม่งัดและส่งไปเขื่อนแม่กวงอีกทอดหนึ่ง ขณะนี้การดำเนินการในสัญญาระยะแรก จำนวน 13 กิโลเมตร คืบหน้าไปมาก ส่วนสัญญาระยะที่ 2 ได้มอบหมายให้กรมชลประทานเร่งรัดดำเนินการ คาดว่าปลายปี 2564 จะเห็นผลสำเร็จได้ นอกจากนี้ หากเกินน้ำมากกว่าปกติ จะสามารถช่วยชะลอน้ำและกักเก็บน้ำได้" นายเฉลิมชัย กล่าว

ด้าน นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำหรับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำในชั้นหิน โดยการขุดเจาะและระเบิดอุโมงค์ความยาวรวม 49 กิโลเมตร เชื่อมระหว่าง ประตูระบายน้ำแม่ตะมาน (ลำน้ำแม่แตง) - เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล – เขื่อนแม่กวงอุดมธารา โดยภาพรวมความก้าวหน้างานก่อสร้างของทั้งโครงการฯ ประมาณร้อยละ 42 โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง จำนวน 4 สัญญา ได้แก่ อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง – แม่งัด สัญญาที่ 1 ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 51 และสัญญาที่ 2 ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 18 , อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด – แม่กวง สัญญาที่ 1 ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 23 และสัญญาที่ 2 ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 80 ซึ่งกรมชลประทานจะเร่งรัดงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาโดยเร็วต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ