กระทรวงคมนาคม รฟม. และ BEM พร้อมขยายการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน – ท่าพระ 23 ธันวาคมนี้ เพื่อเติมเต็มโครงข่ายรถไฟฟ้าและมอบความสุขในการเดินทางให้ประชาชน

จันทร์ ๒๓ ธันวาคม ๒๐๑๙ ๑๗:๑๖
วันนี้ (23 ธันวาคม 2562) เวลา 14.00 น. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน – ท่าพระ โดยมี นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) และโฆษกกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายสราวุธ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และนายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เข้าร่วมในพิธีฯ ณ สถานีท่าพระ จากนั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม รฟม. และ BEM ได้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจากสถานีท่าพระไปยังสถานีเตาปูน พร้อมทั้งทักทายประชาชนกลุ่มแรกที่มารอขึ้นรถไฟฟ้า ก่อนจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นไปอย่างคึกคัก

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม รฟม. และ BEM ได้เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน – ท่าพระ จากสถานีบางโพ – สถานีสิรินธร จำนวน 4 สถานี โดยไม่คิดค่าโดยสาร ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา และได้เร่งรัดดำเนินงานในการขยายการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายให้ครบทุกสถานีเต็มโครงข่ายของเส้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้กับประชาชน โดยพร้อมจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้ เพิ่มอีก 4 สถานี ได้แก่ สถานีบางยี่ขัน สถานีบางขุนนนท์ สถานีไฟฉาย และสถานีจรัญฯ 13 รวมเป็น 8 สถานี คือ จากสถานี บางโพ – สถานีจรัญฯ 13 ในวันที่ 23 ธันวาคม 2562 – 29 มีนาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 16.00 น. เฉพาะในวันที่ 23 ธันวาคม 2562 นี้ จะเปิดทดลองให้บริการจากสถานีเตาปูน – สถานีสิรินธร ตั้งแต่เวลา 10.00 น. และจากสถานีเตาปูน – สถานีท่าพระ ตั้งแต่เวลา 14.30 – 18.00 น. โดยจะให้บริการรถไฟฟ้าแบบวิ่งไป-กลับ จากสถานีเตาปูน – สถานีท่าพระ มีรถไฟฟ้าให้บริการจำนวน 6 ขบวน ระยะห่างระหว่างขบวนประมาณ 8 นาที ซึ่งผู้โดยสารจากสายสีน้ำเงินปัจจุบันหรือสายสีม่วงที่ต้องการเดินทางไปปลายทางระหว่างสถานีจรัญฯ 13 – สถานีบางโพ จะต้องเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีท่าพระหรือสถานีเตาปูน

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม รฟม. และ BEM ได้เตรียมพร้อมที่จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบครบทั้งโครงข่ายและจัดเก็บค่าโดยสารตามปกติทั้งเส้นทาง ในวันที่ 30 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป โดยจะคิดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินตามระยะทาง ตั้งแต่สถานีแรกที่อัตรา 16 บาท สูงสุด 42 บาท ในกรณีเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง จะคิดอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 70 บาท โดยเมื่อผู้โดยสารแตะบัตรหรือเหรียญโดยสารที่ประตูอัตโนมัติแล้ว จะสามารถอยู่ในระบบรถไฟฟ้าได้ไม่เกิน 180 นาที

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่รัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ รฟม. ทำหน้าที่กำกับดูแลในการดำเนินงานโครงการ เพื่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมและรองรับการเดินทางของประชาชน โดยมีแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ระยะทางรวมทั้งสิ้น 28 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงหัวลำโพง – บางแค เชื่อมต่อจากสถานีหัวลำโพงไปยังสถานีหลักสอง มีระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ เชื่อมต่อจากสถานีบางซื่อ ผ่านแยกเตาปูนและไปสิ้นสุดที่สถานีท่าพระ บริเวณแยก ท่าพระ มีระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร จำนวน 9 สถานี ภายในสถานีมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ลิฟต์ ทางลาดสำหรับคนพิการ บันไดทางขึ้น – ลงสถานี บันไดเลื่อน ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร และเครื่องจำหน่ายบัตรโดยสารอัตโนมัติ เป็นต้น เพื่อรองรับการใช้งานของผู้โดยสารทุกประเภท

ทั้งนี้ เมื่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเปิดให้บริการอย่างเต็มโครงข่ายแล้ว จะมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 48 กิโลเมตร จำนวน 38 สถานี และมีสถานีท่าพระเป็นสถานีร่วม (Interchange Station) เชื่อมต่อเส้นทางเป็นโครงข่ายวงกลมที่ครอบคลุมพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานครและเติมเต็มโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ยังมีจุดที่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นๆ ทั้งทางราง ทางบก และทางน้ำในเขตเมือง ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง บรรเทาปัญหาการจราจรที่ติดขัด อันเป็นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและยกระดับการเดินทาง พร้อมทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO