"ภาคการเกษตรเป็นรากฐานของเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย แรงงานถึงประมาณหนึ่งในสามของประเทศอยู่ในภาคการเกษตร ประมาณ 25 ล้านคน แต่ประสิทธิภาพในการทำการเกษตรของไทยนั้นยังถือว่าต่ำกว่าอีกหลายประเทศส่วนหนึ่งเนื่องจากการขาดแคลนเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาภาคเกษตรไทยที่ทันสมัยและยั่งยืน นวัตกรรมจากสตาร์ทอัพเหล่านี้ จะเป็นเครื่องมือและอาวุธสำหรับเศรษฐกิจยุคใหม่ของภาคเกษตรไทยให้พร้อมรับมือโฉมหน้าโลกเกษตรในอนาคตอันใกล้ โดยการดำเนินงานของสตาร์ทอัพจึงเปรียบเสมือนนักรบเศรษฐกิจใหม่ที่จะมีการสร้างสรรค์แนวทางใหม่ๆ มาใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรและสามารถช่วยให้เกษตรไทยมีนวัตกรรมที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน อีกทั้ง สอดคล้องกับนโยบาย BCG model ของรัฐบาล" ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าว
เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายทางการเกษตรของภาครัฐ มร. จอห์น เครน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนสท์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "เนสท์มีความภูมิใจอย่างยิ่งในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตรมาสู่ประเทศไทยร่วมกับ NIA ด้วยเครือข่ายธุรกิจสตาร์ทอัพในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ทำให้เราสามารถเข้าถึงและทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพระดับโลกและคัดเลือกธุรกิจสตาร์ทอัพ 10 รายที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเหมาะสมกับประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมโครงการ AGrowth ครั้งแรกในประเทศไทย และขอขอบคุณการสนับสนุนด้วยดียิ่งจากพันธมิตรทั้ง 2 องค์กร ได้แก่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ที่เป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ทำโครงการนี้ประสบความสำเร็จ"
ทั้งนี้ ตลอดช่วง 12 สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัดได้ร่วมทำงานกับสตาร์ทอัพ 6 ราย ได้แก่ Poladrone (มาเลเซีย) Hello Tractor (ไนจีเรีย) Cropin (อินเดีย) Agrisource Data (สหรัฐอเมริกา) รวมทั้ง GetzTrac และ Evergrow จากประเทศไทย ในการปรับใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับเกษตรกรไทยและแก้ปัญหาความท้าทายต่างๆ ที่พวกเขาต้องเผชิญในขณะนี้
"ช่วงแรกของการทำงานร่วมกับกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพรุ่นใหม่จากนานาประเทศถือว่าค่อนข้างท้าทาย แต่ภายหลังไม่นานเรารู้สึกประทับใจที่บริษัทเหล่านี้แสดงถึงความตั้งใจจริงที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรไทยในการพัฒนาผลิตผล ปริมาณการผลิต และรายได้ ตัวอย่างเช่น GetzTrac ผู้ให้บริการระบบจับคู่เพื่อเชื่อมต่อเจ้าของเครื่องจักรกลทางการเกษตรกับเกษตรกรที่ต้องการใช้เครื่องจักรได้มอบส่วนลดสำหรับแพคเกจค่าบริการเก็บเกี่ยวและอัดฟาง ส่งผลให้มีจำนวนผู้จองใช้บริการมากถึง 300 รายต่อปี และเนื่องจากโดยปกติจะต้องใช้เวลาเฉลี่ยในการรอเครื่องจักรเพื่อใช้งานนานถึง 4 วันด้วยบริการนี้ทำให้ชาวนาลดเวลารอได้มากถึง 1,200 วันต่อปี อีกทั้ง ยังช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการเก็บเกี่ยวได้ร้อยละ 10 หรือเป็นจำนวนเงินประมาณ 1.7 ล้านบาท ซึ่งนี่เป็นแค่ตัวอย่างจากการทำนาข้าวเพียงอย่างเดียว" นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าว
ขณะที่ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ได้เฝ้าติดตามและทำงานใกล้ชิดกับสตาร์ทอัพที่เน้นด้านการทำเกษตรในเมือง ได้แก่ FoodCube (ออสเตรเลีย) Plant Cartridge (มาเลเซีย) Farmacy (ฮ่องกง) และ Fresh Produce Kings (ประเทศไทย)
รองศาสตราจารย์ ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า "ในฐานะที่บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืนในประเทศไทย เราจึงมองหาโอกาสที่จะเติมเต็มวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง และเน้นการทำเกษตรในเมืองที่จะมีบทบาทสำคัญในการทำให้เป้าหมายที่วางไว้ประสบความสำเร็จ การที่ได้มีโอกาสร่วมทำงานในโครงการ AGrowth กับ NIA เนสท์ กรุ๊ป และบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด รวมทั้งผู้ประกอบการรุ่นใหม่ครั้งนี้ นับว่าเป็นประสบการณ์การทำงานที่มีคุณค่าและสร้างแรงบันดาลใจอย่างมาก นอกเหนือจากการที่เราสามารถลดเวลาและต้นทุนที่บริษัทต้องใช้ในการทำวิจัยและพัฒนาเอง"
จากหลักฐานพบว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อวงจรผลผลิตทางการเกษตร ดังนั้น ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนจึงส่งเสริมการทำเกษตรในเมืองให้เป็นอีกหนึ่งแหล่งอาหารสำหรับคนเมืองและผู้พักอาศัยแถบชานเมือง ทางศูนย์ฯ ไม่เพียงเปิดโอกาสให้ Plant Cartridge จัดทำพื้นที่การเกษตรขนาดเล็กในโครงการบ้านพักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ Aspen Tree ของบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด แต่ยังเป็นการจัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุได้ดูแลพืชผักและมีผักสดรับประทาน นอกเหนือจากการให้บริการการทำเกษตรในเมืองแก่ผู้พักอาศัยในโครงการอื่นของบริษัทฯ อีกด้วย โดยผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานร่วมกับ Plant Cartridge ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการประหยัดวัสดุอุปกรณ์ในการปลูกถึง 200 เท่า การลดลงของเวลาเตรียมงานร้อยละ 20 ต้นไม้มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นร้อยละ 30 และการลดการใช้น้ำและปุ๋ยถึงร้อยละ 90 นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์ที่ใส่ต้นไม้ยังสามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ 100% และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น โครงการ AGrowth จึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการพลิกโฉมการเกษตรของประเทศไทย เพื่อช่วยแก้ปัญหาความยากจนในกลุ่มเกษตรกร อีกทั้งเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงให้สตาร์ทอัพด้านการเกษตรจากนานาประเทศได้เข้าถึงระบบนิเวศของสตาร์ทอัพไทย รวมถึงจะเป็นตัวเร่งในการสร้างสรรค์สตาร์ทอัพด้านการเกษตรรุ่นใหม่ในประเทศไทยให้มีความหลากหลายและเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น