นายสมภาคย์ ได้แถลงว่าจากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในเขตกรุงเทพมหานครในช่วงเทศกาลปีใหม่ ย้อนหลัง 5 ปี พบว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยในช่วงปีใหม่ 2562 มีอุบัติเหตุในกรุงเทพมหานคร 42 ครั้ง โดยมีผู้บาดเจ็บจำนวน 47 ราย และมีจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 10 ราย โดยสาเหตุสำคัญ คือ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด รองลงมาคือ ไม่สวมหมวกนิรภัย และเมาแล้วขับ กรุงเทพมหานครจึงได้บูรณาการแผนการป้องกันอุบัติเหตุ และลดการสูญเสียชีวิตร่วมกับหน่วยงานต่างๆ มากำหนดกรอบ ให้หน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ใช้เป็นแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 นี้ โดยเน้นการลดปัจจัยเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุทางถนน 6 มาตรการหลัก ได้แก่
1) ด้านคน เช่น การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด การใช้กลไก ทางสังคมและชุมชนเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยง และการรณรงค์สร้างวินัยจราจร
2) ด้านถนนและสภาพแวดล้อม เช่น การปรับปรุงจุดเสี่ยง จุดอันตราย พร้อมกับเร่งคืนพื้นที่ผิวจราจรที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และปรับสภาพ ให้ใช้งานได้ดี
3) ด้านยานพาหนะ เช่น การกำกับควบคุมรถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุก และพนักงานขับรถ
4) ด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ เช่น การเตรียมพร้อมของโรงพยาบาล และหน่วยบริการแพทย์ และหน่วยกู้ชีพฉุกเฉิน และการช่วยเหลือ เยียวยาผู้ประสบเหตุ
5) ด้านความปลอดภัยทางน้ำ เช่น การจัดตั้งศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางน้ำ ประจำท่าเทียบเรือ
การตรวจสอบความปลอดภัยของเรือ และอุปกรณ์ชูชีพ 6) ด้านมาตรการดูแล ความปลอดภัยนักท่องเที่ยว เช่น การเข้มงวดกวดขันดูแลเส้นทาง ที่เข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวเป็นพิเศษ และกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเสริม ได้แก่ มาตรการด้านการบริหารจัดการ เช่น การจัดตั้งศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุ ทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 การจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ที่บูรณาการการดำเนินงาน ทุกภาคส่วน และการจัดตั้งคณะทำงาน วิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ในการเดินทางทุกมิติ
สำหรับงานในวันนี้ นอกจากจะมีการแถลงนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่แล้ว ยังมีกิจกรรมสร้างแนวร่วมภาคประชาชน ภายใต้แคมเปญ "Stop / Think / Act ฉุกใจ ไม่ฉุกเฉิน" เพื่อให้ ทุกคนร่วมตระหนักและฉุกใจคิดถึงความปลอดภัย และป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ โดยจะมีการ ปล่อยขบวนรณรงค์ "ฉุกใจ ไม่ฉุกเฉิน" การแสดงผลงานศิลปะ Installation Art สะท้อนปัญหาอุบัติเหตุทางถนน การแสดงนิทรรศการเพื่อให้ความรู้และสร้างความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย รวมถึงกิจกรรม ประชาสัมพันธ์และเล่นเกมที่ให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนอีกด้วย นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ยังได้จัดตั้งจุดบริการประชาชนที่สัญจรทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ จำนวน 11 จุด บริเวณเส้นทางเข้า-ออกเมือง 7 จุด และบริเวณสถานีขนส่ง 4 จุด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และเป็นการรณรงค์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทาง
อย่างไรก็ตาม นอกจากการรณรงค์ด้านความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่แล้ว กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการจราจรและขนส่งยังเตรียมกิจกรรมเพื่อความปลอดภัยทางถนนหลากหลาย รูปแบบตลอดทั้งปี ได้แก่ การรณรงค์ด้านความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ การสร้างความตระหนัก ให้กับเยาวชน ถึงแนวทางการปฏิบัติเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ด้านความปลอดภัยทางถนน และการประชุมศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนทั้งในระดับกรุงเทพมหานคร และระดับเขต เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน
กรุงเทพมหานครพร้อมเป็นแกนนำสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการลดอุบัติเหตุทางถนน แต่ส่วนสำคัญคือความร่วมมือของประชาชนในการใช้รถใช้ถนนอย่างระมัดระวัง เพื่อลดจำนวนการเกิด อุบัติเหตุ รวมถึงจำนวนผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตลง โดยมีเป้าหมายเพื่อลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตในพื้นที่กรุงเทพให้เหลือน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับสถิติช่วงเทศกาลปีใหม่ของเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งความปลอดภัยอย่างยั่งยืน