ธุรกิจอาหารยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค แม้ว่าภาวะกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนตัว มองว่า ประชาชนยังจำเป็นต้องบริโภคอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่ปลอดภัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และชุมชน ส่งผลให้ผู้บริโภคให้การตอบรับสินค้าของซีพีเอฟเป็นอย่างดี
"ซีพีเอฟ เป็นผู้ผลิตอาหารโปรตีนราคาไม่แพง ไม่ว่าจะเป็น ไก่ หมู กุ้ง ปลา ไข่ไก่ ล้วนเป็นอาหารพื้นฐานที่คนต้องบริโภค และที่สำคัญ การผลิตของบริษัทเป็นการผลิตแบบครบวงจร จึงเชื่อมั่นว่า ธุรกิจของบริษัทไม่ได้รับผลกระทบและสามารถเติบโตต่อเนื่อง" นายอดิเรกกล่าว
ด้านทิศทางการสร้างการเติบโตในปี 2563 ซีพีเอฟจะมุ่งสร้างการเติบโต รวมถึงขยายธุรกิจในประเทศที่มีศักยภาพ รวมทั้งใน 17 ประเทศที่บริษัทมีพื้นฐานอยู่แล้วหากมีโอกาส เช่น จีน เวียดนาม อินเดีย ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีการเติบโตมาก
ทั้งนี้ การเติบโตของบริษัฯ ส่วนใหญ่มาจากการลงทุนในต่างประเทศ โดยรายได้ของบริษัทฯ กว่า 500,000 ล้านบาท นั้น กว่า 70% ของรายได้ มาจากธุรกิจลงทุนในต่างประเทศ 17 ประเทศ ที่เหลือเป็นรายได้จากการจำหน่ายในประเทศไทย 27-28% และเป็นรายได้จากการส่งออกไปต่างประเทศเพียง 5% เท่านั้น แม้ว่าการส่งออกจะได้ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท แต่บริษัทมีการนำเข้าวัตถุดิบเข้ามาจึงถือว่ามีความสมดุลกับยอดขายจากการส่งออก
ขณะเดียวกัน นายอดิเรกยอมรับว่า ปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงมากในปีหน้า น่าจะกระทบกับภาคการเกษตรอย่างแน่นอน เพราะน้ำเป็นปัจจัยหลักของทุกอย่าง แต่ในการผลิตปศุสัตว์ของซีพีเอฟ มีแหล่งน้ำอย่างเพียงพออยู่แล้ว ด้านราคาสินค้าที่คาดว่าวัตถุดิบจะมีราคาเพิ่มขึ้นนั้นถือว่าเป็นวงจรปกติของสินค้าเกษตร ทีอาจมีผลให้ต้นทุนของซีพีเอฟปรับขึ้นได้เล็กน้อย ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการผลิต การบริหารต้นทุน เน้นคุณภาพและบริการ.